เสนอยกเลิก ‘กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’
ชี้ยิ่งนานยิ่งเป็นเครื่องมือทางการเมือง
หมายเหตุ: ความเห็นของสมชาย ปรีชาศิลปกุล และ David Streckfuss
ใน “การอภิปรายเรื่อง กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ผลและล้มเหลวอย่างไร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมทางวิชาการไทยคดีศึกษา ครั้งที่ 10 (The 10th International Conference on Thai Studies) จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 9-10 มกราคม 51 ที่ผ่านมา
000
ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล:
" ดูเหมือนว่า เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทยปัจจุบัน จะเป็นเรื่องที่เป็นปกติของสังคมไทย ไม่มีการตั้งคำถามบ่อยมากนัก ถ้าเราอยู่ในสังคมไทยอาจจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกตินี้ แต่ถ้าสนใจเรื่อง lèse majesté laws ในเว็บไซต์วิกิพีเดีย (http://wikipedia.org สา รานุกรมออนไลน์) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่สังคมอื่นๆ ซึ่งสถาบันกษัตริย์เคยมีบทบาท แล้วเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์จะเปิดกว้างมากขึ้น ในขณะเดียวกันกับที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะผ่อนคลายลง การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะลดน้อยลง แต่สังคมไทยมีลักษณะที่พิเศษ คือ แม้จะเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ยิ่งนานวัน ยิ่งดูเหมือนว่าจะมีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นมาก สม่ำเสมอ แม้กระทั่งเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ดูเหมือนว่าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมปาก ไม่สามารถพูดอะไรได้มาก ในขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมก็ดูอิหลักอิเหลื่อ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี
ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่สังคมไทยอยู่กับความผิดปกติ จนกระทั่งมันกลายเป็นปกติไป
พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย มี 4 จังหวะ คือ หนึ่ง ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์มีกฎหมายที่ให้การคุ้มครองพระมหากษัตริย์จาก การหมิ่นประมาทและการแสดงความอาฆาตมาดร้าย เป็นกฎหมายที่อยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ เพราะฉะนั้น เส้นแบ่งระหว่างกษัตริย์กับรัฐยังไม่ชัดเจน ซึ่งคิดว่าเป็นภาวะที่เป็นเช่นนั้นในสมัยนั้น
สอง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ตัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมมาตราหนึ่ง ซึ่งเขียนว่า “ผู้ ใดที่กระทำการให้ปรากฎแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ ทำให้เกิดความดูหมิ่นต่อกษัตริย์หรือรัฐบาล มีโทษจำคุกและปรับ” แต่มีข้อยกเว้นที่น่าสนใจว่า “การกระทำที่ทำให้เกิดความดูหมิ่นต่อกษัตริย์หรือรัฐบาล ถ้ากระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นไม่ถือว่าเป็นความผิด” แม้ว่ากฎหมายที่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้เข้าไปแก้ในกฎหมายหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพ แต่ว่ามีผลทำให้การกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการหมิ่นกษัตริย์ แต่ถ้าทำภายใต้จุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญถือว่าไม่เป็นการกระทำความผิด นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือมีการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งว่า
“นับตั้งแต่ได้รัฐธรรมนูญมา ราษฎรยังไม่ได้รับการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยแท้จริง เป็นอธิปไตยและเผด็จการ ซึ่งอยู่ในอำนาจของผู้บริหารตามใจชอบ ปิดปากเสียงราษฎรไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโกหกหลอกลวง จงมาช่วยกันแช่งไอ้คนพูดไม่มีสัตย์ พวกก่อการแต่ก่อนมีแต่กางเกงชั้นใน เดี๋ยวนี้แต่ละคนมีตึกมีรถยนต์ จอมพล ป. ระยำเพราะมีคนสอพลอ นายกรัฐมนตรีปัจจุบันระยำยิ่งกว่าเสียอีก”
อันนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลัง 2475 กรณี นี้คนที่พูดแบบนี้ไม่ผิด แม้จะวิจารณ์รัฐบาล แต่ต้องตระหนักว่า กฎหมายที่แก้ไปยกเว้นให้การกระทำที่ทำให้หมิ่นพระมหากษัตริย์และรัฐบาล สามารถกระทำได้ ถ้ากระทำภายใต้รัฐธรรมนูญ กรณีนี้แม้ไม่ได้วิจารณ์กษัตริย์โดยตรง แต่น่าจะเทียบเคียงได้ เพราะกษัตริย์และรัฐบาลได้รับการคุ้มครองในลักษณะเดียวกัน
ความเปลี่ยนแปลงที่สาม เกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อปี 2499 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่าจุดตั้งต้นที่สำคัญมาจากการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2499 โดย ข้อความที่ใช้อยู่จนปัจจุบัน ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ต่อมาถูกเพิ่มโทษในปี 2519 ความเปลี่ยนแปลงคือ กฎหมายเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้ใดหมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้าย ปี 2499 เพิ่มคำว่า “ดูหมิ่น” เข้ามา และมีผลจนถึงปัจจุบัน
โดยตัวอย่างที่มีผลคือ คดีแรก เกิดก่อนการเพิ่มคำว่า “ดูหมิ่น” เข้าไปในกฎหมาย ส่วนคดีที่สอง เกิดหลังจากมีการเพิ่มคำ “ดูหมิ่น” เข้าไปแล้ว คดีแรก มีบุคคลคนหนึ่งอวดอ้างเป็นหมอรักษาโรคทางอาคม พูดอวดอ้างกับประชาชนว่า มือขวาของตนมือมีดพับเป็นพระขรรค์แก้ว มือซ้ายเป็นจักรนารายณ์ เป็นหมอวิเศษ จะชี้ให้คนเป็นบ้าหรือตายหรือเป็นอะไรทั้งสิ้น ป. จะเรียกพระเจ้าแผ่นดินหรือรัฐธรรมนูญให้มากราบไหว้ก็ได้ ศาลตัดสินว่าการกระทำนี้เป็นแต่อวดอ้าง ไม่ผิดตามกฎหมายเดิมที่เป็นหมิ่นประมาทกับแสดงความอาฆาตมาดร้าย เพราะฉะนั้นกรณีนี้ การพูดว่าจะเรียกให้พระเจ้าแผ่นดินมากราบไหว้ก็ได้ ไม่ผิดใดๆ
แต่เปรียบเทียบกับอีกคดี ซึ่งเกิดหลังจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพิ่มคำว่า “ดูหมิ่น” เข้าไป ในกรณีวีระ มุสิกพงศ์ กล่าวว่า ถ้าเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวัง ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ ไม่ต้องออกมายืนตากแดดพูดให้ประชาชนฟัง ถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง ตกเย็นก็เสวยน้ำจันให้สบายอกสบายใจ คำพูดนี้ ถ้าในทางกฎหมายในทัศนะผมไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท แต่เป็นการดูหมิ่น ถ้าคุณวีระ มุสิกพงศ์ พูดคำนี้ก่อน พ.ศ. 2499 ในทัศนะผม จะไม่ผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
การเพิ่มคำว่า “ดูหมิ่น” เข้าไป ทำให้ความผิดฐานนี้ขยายออกไปมาก การกระทำที่เป็นความผิดฐานดูหมิ่น ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะถูกตีความไปถึงเรื่องอื่นด้วย เช่น การพ่นสีสเปรย์ การไม่ยืนเคารพเพลง ฯลฯ
ประการ ที่สี่ เมื่อปีที่แล้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยให้ขยายความคุ้มครองถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ แต่ต่อมา ร่างนี้ได้ถูกถอนออกไป ผู้เสนอร่างได้ให้เหตุผลว่า ทางองคมนตรีไม่สบายใจ
นั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงในตัวกฎหมาย
สำหรับ คดีที่เกิดขึ้น พบว่า ในตัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะพูดเฉพาะการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ ราชินีและรัชทายาท แต่ในสังคมไทย คดีที่เกิดขึ้น มีการขยายถึงตัวบุคคล และการกระทำ
การขยายเชิงตัวบุคคล พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มี การวิพากษ์วิจารณ์ว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร การวิพากษ์วิจารณ์นี้ถูกตอบโต้ว่า เป็นการลามปาม และหมิ่นต่อสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากกษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน ตัวกฎหมายไม่รวมถึงองคมนตรี แต่มีความพยายามที่จะทำให้กฎหมายนี้ดูเหมือนว่าขยายไปคุ้มครององคมนตรี
ใน เชิงการกระทำโดยทั่วไป การหมิ่นประมาท มักต้องเป็นการกระทำที่ชัดเจนว่า แสดงออกโดยตรงต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าต้องการให้เกิดผลกับอีกบุคคลหนึ่งโดยตรง แต่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสังคมไทย ถ้าดูตัวอย่างของคนที่ถูกกล่าวหา คือ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เคยถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยเหตุผล 3 เรื่อง โดยว่ากันว่า พระธัมมไชโย ไปขอสมณศักดิ์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้รับ และมีข่าวลือว่า เมื่อกลับวัดไป พระธัมมชโย ตัดต้นกันเกราและต้นบุนนาค ต้นไม้ที่สมเด็จย่าเคยปลูก เมื่อปี 2522 สอง ย้ายพระพุทธรูปที่สมเด็จย่าเททองหล่อไว้ แล้วนำพระพุทธรูปองค์ใหม่มาตั้งแทน ซึ่งกรรมาธิการศาสนาในยุคนั้น วินิจฉัยแล้วว่าหน้าคล้ายพระธัมมชโย สาม ซื้อและครอบครองที่ดินโดยไม่ใช้สมณศักดิ์ แต่ใช้ชื่อ พระพิบูลย์ สุทธิผล การกระทำสามอย่างนี้ถูกกรรมาธิการของสภาทางด้านศาสนาวินิจฉัยว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
กรณี คุณสมัคร สุนทรเวช ขณะให้สัมภาษณ์แถลงเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน ใจความตอนหนึ่งพูดว่า ได้ตรวจสอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถึงจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เลว ก็ยอมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากการให้สัมภาษณ์ นายอำนาจ จันทรมนตรี แกนนำเครือข่ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน พร้อมกับชาวบ้านจำนวน 30 คน เห็นว่าเป็นการใช้วาจาจาบจ้วงหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จึงเข้าร้องทุกข์แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับนายสมัคร
ถ้าการกระทำของคุณสมัครผิด (แล้ว) การรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในพระปรมาภิไธย (เล่า)?
มี อีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น เช่นการนำพระราชดำรัสมาตีพิมพ์ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า เป็นการกระทำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เท่าที่อ่าน ในรอบ 10-20 ปี ไม่พบการกระทำใดที่พูดถึงสถาบันอย่างตรงไปตรงมา ทุกอย่างพูดถึงคนที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำที่ห่างไป 2-3 ช่วงแขน เพราะฉะนั้นในทัศนะของผม ผมคิดว่า การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กำลังก้าวไปสู่จุดที่มีการใช้กฎหมายที่เลอะเทอะมาก
เมื่อ กลับไปสำรวจว่า ในสังคมไทยมีการพูดถึงกฎหมายและคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เกิดขึ้นบ่อยครั้งขนาดไหน พบว่าที่เป็นสาธารณะ จัดโดยสถาบัน พบว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีการจัดขึ้นในที่สาธารณะ 2 ครั้ง ครั้งแรกจัดโดยสยามสมาคม เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2530 ก่อนการตัดสินคดีของคุณวีระ มุสิกพงศ์ อีกครั้งคือ การจัดเมื่อ 22 เมษายน 2549 จัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ ในรอบ 20 ปี ที่เราใช้กฎหมายนี้กันอย่างพร่ำเพรื่อ ในแวดวงวิชาการ มีการพูดถึงกฎหมายนี้กันน้อยมาก ไม่มีสถาบันการศึกษาด้านกฎหมายสถาบันใดที่พูดถึงเรื่องนี้ชัดเจน การจัดอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ที่จัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2550 ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น คิดว่ามีปัญหา 2 ระดับ คือ ไม่มีการคุยเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่า สุดท้าย ขอบเขตอยู่ตรงไหน สอง ไม่มีการมองว่าผลกระทบเมื่อมีการใช้กฎหมายนี้ มีข้อดี ข้อเสียต่อสถาบันและสังคมไทยอย่างไร ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม และหวังว่าคงไม่เป็นครั้งสุดท้าย”
000
David Streckfuss:
เดวิด สเตรคฟัส นักวิชาการอิสระจากวิสคอนซิน ผู้ร่วมศึกษางานชิ้นนี้อีกคนหนึ่งได้กล่าวเสริมถึงข้อเสนอว่า
1.ควรปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นเดียวกับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 ตัดคำว่า “ดูหมิ่น” ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาออก และ/หรือ
2.ควรเพิ่มข้อยกเว้นให้การแสดงความคิดเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นสิ่งที่กระทำได้
3.ควร ปรับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของประเทศอื่นๆ ในสังคมโลกสมัยใหม่ โดยการฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาตรา 112 ควรทำได้เมื่อกษัตริย์มีพระบรมราชโองการ หรือด้วยพระฉันทานุมัติจากกษัตริย์เท่านั้น
4.เพื่อให้ประชาธิปไตยไทย สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และรัฐธรรมนูญของไทยเอง ควรจะยกเลิกกฎหมายนี้
สังคม ไทยในทุกระดับ ควรจะมีเสรีภาพในการอภิปรายและถกเถียงข้อเสนอเหล่านี้ หรือข้อเสนออื่นๆ โดยปราศจากความกลัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากไม่มีการแก้ไขปรับปรุง กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทยจะยังคงเป็นเครื่องมือทางการ เมืองอย่างที่เคยเป็นมา และพร้อมจะสร้างความเสียหายแก่สถาบันที่กฎหมายนั้นพยายามปกป้องทุกเมื่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น