มองต่างมุม: พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปกป้องหรือคุกคาม?
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับ สถาบันอิศรา จัดราชดำเนินเสวนาครั้งที่ 17 /2551 เรื่อง “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปกป้องหรือคุกคาม” ดำเนินรายการโดยนายฐิติชัย อัฏฏะวัชระ
นายอังสุมาล ศุนาลัย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ในโลกไซเบอร์สเปซ มีการส่งผ่านข้อมูล ทำธุรกรรมค่อนข้างเยอะมาก จึงจำเป็นต้องมีกฏหมายรองรับการดำเนินการต่างๆ เหล่านั้น เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวข้อมูล หรือการทำธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ ทั้งนี้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเว็บนั้นเกิดจากชีวิตประจำวันชีวิตจริงของผู้ใช้ ไม่ใช่โลกไซเบอร์ ทุกคนต้องแสดงตัวบุคคลว่าเราเป็นใคร ซึ่งเวลาแสดงความเห็นอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฏหมาย
รองปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวถึงการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ว่า เพื่อปกป้องการเข้าถึงข้อมูลโดยวิธีการที่มิชอบผ่านเครือข่าย ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อาทิ การให้ข้อมูลให้ร้ายบุคคลอื่น ให้ข้อมูลเพื่อเอาทรัพย์สินคนอื่นมา หรือเจตนาล่อลวง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้รับผลกระทบ โดยเปรียบเทียบว่า หากไม่มีกฏจราจร ใครจะขับรถอย่างไรก็ได้ ก็จะเกิดความวุ่นวายในสังคม จึงพยายามออกกฏระเบียบขึ้น
นายอังสุมาล ขยายความว่า อำนาจของไอซีทีไม่ได้มี ทุกอย่างต้องขอคำสั่งศาล นอกจากนี้ไม่ได้บล็อคทั้งเว็บ แต่บล็อกเฉพาะหน้ายูอาร์แอลที่มีปัญหาเท่านั้น เพื่อปกป้องผู้ที่เสียหาย ทั้งนี้ ไม่ต้องการให้มองภาพของอินเทอร์เน็ตในแง่ลบเสียทั้งหมด เราพยายามให้เห็นว่าต้องสร้างสิ่งที่เป็นเนื้อหาดีๆ เข้ามา ให้เนื้อหาที่ไม่ค่อยดีค่อยๆ จางหายไป ซึ่งอาจทำได้ด้วยการลดช่องทาง
นายอังสุมาล กล่าวว่า คุณธรรมจริยธรรมมีความหมายมาก เพราะถ้าทุกคนอยู่ในคุณธรรมจริยธรรมแล้ว กฏหมายตรงนี้แทบไม่ต้องไปอ่านเลย หากไม่ได้ว่าร้ายคนอื่น ไม่แสดงสิ่งลามกอนาจาร หรือทำเรื่องผิดกฏหมายทั่วๆ ไปก็อยู่ในสังคมได้ด้วยดี เขากล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดกวดขัน เพราะต้องเร่งเข้าไปสู่โลกของการทำธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์ ต้องการซื้อขายผ่านระบบ เพื่อลดช่องว่างของการซื้อขายลง และส่งผ่านสิ่งต่างๆ ได้ถึงมือผู้ใช้ เพราะฉะนั้น ความเชื่อมั่น เชื่อถือในระบบนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง จึงต้องกวดขันสิ่งต่างๆ เหล่านี้
พ.ต.อ.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองผู้บัญชาการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบก.ศตท) กล่าวว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตให้อยู่ในกฎเกณฑ์ที่ไม่ไปสร้างความเสียหายให้สังคม อินเทอร์เน็ตก็เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ ผู้ให้บริการสื่อนั้นๆ ต้องควบคุมดูแลให้สร้างสรรค์ ไม่กระทบสิทธิเสรีภาพหรือสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น เว็บมาสเตอร์ต้องกลั่นกรองเนื้อหาที่จะออกสู่ผู้บริโภคให้อยู่ในขอบเขตของกฏหมาย
พ.ต.อ.พิสิษฐ์ กล่าวว่า เดิมเรามีกฏหมายอาญา รวมทั้ง พ.ร.บ. อื่นๆ ที่มีโทษอาญา เพื่อควบคุมการกระทำความผิดต่างๆ ต่อมา เมื่ออินเทอร์เน็ตแพร่หลาย มีวิทยาการอย่างรวดเร็ว กฏหมายที่มีอยู่ไม่ได้ล้าสมัย แต่การดำเนินการตามกฏหมาย เช่น การรวบรวมพยานหลักฐาน ควบคุม ดำเนินคดี ประสบปัญหา จึงตรา พ.ร.บ. ขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ควบคุมเก็บรวบรวมหลักฐาน การยึดวัตถุพยานหลักฐานทางดิจิตอลในระบบคอมพิวเตอร์ มาเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี
พ.ต.อ.พิสิษฐ์ ยกตัวอย่างว่า ในอดีต มีข้อหาลักทรัพย์ ขโมยสิ่งของอย่างแว่นตา ส่วนปัจจุบัน ในโลกอินเทอร์เน็ต มีการลักโดเมนเนม หรือชื่อที่จดทะเบียน เช่น จะเข้าเว็บพันทิพ ก็เข้าไม่ได้ เพราะถูกเปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว ก็ต้องตีความว่า คำว่าโดเมนเนมเป็นทรัพย์หรือไม่ หรือการบุกรุก ที่ระบุในประมวลกฏหมายอาญา อย่างการเข้าไปในบ้านผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ในโลกไซเบอร์ก็เป็นการบุกรุกเข้าไปในระบบและแก้ไขเนื้อหา ดังนั้น จึงต้องมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เพื่อครอบคลุมความผิดที่เกิด และอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ในการควบคุมผู้กระทำความผิด
สำหรับการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นั้น พ.ต.อ.พิสิษฐ์ กล่าวว่า เหมือนคดีอาญาทั่วไป โดยความผิดที่เกิดในเว็บต่างๆ 99% เป็นความผิดอาญาอื่นๆ เช่น ฉ้อโกงออนไลน์ ข้อหาหลักคือ ฉ้อโกง แต่กระทำความผิดผ่านทางออนไลน์ หรือการพนันออนไลน์ โดย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จะเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เขาอธิบายว่า การดำเนินคดีนั้นเหมือนความผิดทั่วไปที่เกิดขึ้นประจำวัน มีตำรวจหน่วยต่างๆ ที่สอดส่องดูแล รวมถึงได้รับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงไอซีที กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยจะดูที่เนื้อหาเป็นหลัก จากนั้นจะส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการคู่ขนานกันไป เช่น เมื่อพบการค้าประเวณีทางอินเทอร์เน็ต ก็จะประสานงานกับกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อไปสร้างภูมิคุ้มกัน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชนและสตรี ให้สืบต่อ
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีหน่วยงานด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะคือ ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี (ศตท.) ซึ่งมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากความผิดทางเทคโนโลยีต้องใช้ความรู้ความสามารถในเรื่องนั้นๆ เป็นพิเศษ เพราะฉะนั้น จึงพยายามที่จะเอาความผิดเหล่านี้มาทำที่กองบังคับการนี้ แต่ก็ไม่ได้ตัดอำนาจของตำรวจทั่วประเทศ เขาสามารถดำเนินการได้ตามขีดความสามารถของเขา
เมื่อส่งเรื่องไปที่หน่วยที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นในความผิดนั้นๆ ก็ต้องมองว่า การกระทำความผิดนั้น กฏหมายให้อำนาจในการปิดกั้นหรือไม่ ถ้าอยู่ในขอบเขตที่จะปิดกั้นได้ จะส่งเรื่องไปที่กระทรวงไอซีทีเพื่อให้ร้องขอต่อศาลให้มีการปิดกั้น เช่น ปัจจุบันเมื่อมีหน้าเว็บเพจ เว็บบอร์ดที่มีข้อความที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเพ่งเล็งเป็นพิเศษ และส่งให้ไอซีทีปิดกั้นเป็นประจำ โดยทุกสัปดาห์เขาจะรวบรวมส่งให้ไอซีที เมื่อส่งแล้ว ก็จะพิจารณาความผิดที่เกิดขึ้นในแต่ละหน้าเว็บ ว่าเนื้อหานั้นอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานไหนก็จะส่งต่อไปที่นั่น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ซึ่งจะมีอำนาจสอบสวนคดีนั้นเอง โดยไม่ต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนการดำเนินคดี จะมีชุดปฏิบัติการเทคโนโลยีที่จะลงไปช่วยหน่วยงานตำรวจพื้นที่ต่างๆ ที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจการสอบสวนสืบสวนคดีเทคโนโลยี เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ในการสืบสวนสอบสวนคดีเทคโนโลยี โดยเริ่มจากสถาบันการศึกษา เดิมหลักสูตรในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีหลักสูตรสืบสวนสอบสวนคดีอาญาเป็นหลักสูตรหลัก แต่ปัจจุบันได้เพิ่มหลักสูตรการสอบสวนคดีเทคโนโลยี เป็นวิชาบังคับในชั้นปี 3-4 ส่วนพนักงานสืบสวนตาม สน. ต่างๆ ทั่วประเทศก็ได้ฝึกอบรมให้เข้าใจเรื่องการสอบสวนคดีเทคโนโลยีเป็นการเบื้องต้น ให้สามารถอำนวยความสะดวกและความยุติธรรมให้ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง โดยมี ศตท. เป็นพี่เลี้ยงในกรณีที่มีปัญหา
ขณะเดียวกัน หน่วยตำรวจที่กระจายอยู่ตามภูมิภาค ก็ได้มีโครงการจัดตั้งชุดปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนคดีเทคโนโลยีประจำภาค เพื่อเป็นพี่เลี้ยงตำรวจในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้คำแนะนำรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อที่ตำรวจในที่นั้นๆ จะได้ไม่ต้องเข้ามาที่ส่วนกลาง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้ในอนาคตการดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีเทคโนโลยีจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนคดีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการหมิ่นประมาททางเว็บบอร์ด และการฉ้อโกงออนไลน์ ที่เกิดจากการซื้อสินค้าออนไลน์ แล้วไม่ได้รับ
ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูตร หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในยุโรปมีอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Cyber Crime Convention) ของสภาแห่งยุโรป ซึ่งเป็นต้นแบบของกฏหมายที่ใช้ในระดับพหุภาคีในยุโรป โดยสาระของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของไทยก็มีอะไรคล้ายกับอนุสัญญาฯ นี้ โดยตีความการกระทำความผิดต่อคอมพิวเตอร์เป็น 2 ส่วนคือ การกระทำความผิดต่อข้อมูลในคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ และการกระทำความผิดโดยมีคอมพิวเตอร์เป็นเครืองมือในการทำความผิด (computer misuse) โดยมีการวิเคราะห์ในวงวิชาการว่า สาระของอนุสัญญาฯ นี้ เน้นไปที่ความผิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือมากกว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อข้อมูล หรือระบบในคอมพิวเตอร์
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีการหยิบยกมาพูดคุยกัน คือ นอกเหนือจากการจัดการกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั่วไป โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ คือการเพิ่มขึ้นของกาารขยายอำนาจของภาครัฐหรือหน่วยงานของรัฐในการเก็บข้อมูลและการควบคุมพฤติกรรมของประชาชน
จากการวิเคราะห์เนื้อหาในอนุสัญญาฯ พบว่า มีการเพิ่มอำนาจให้รัฐสามารถสอดแนมทางข้อมูล เฝ้าระวังทางข้อมูล เพิ่มอำนาจในกระบวนการสอบสวนสืบสวนของอาชญากรรมอื่นที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ หรืออาจเป็นอาชญากรรมอะไรก็ได้ ที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่บัญญัติไว้ก็ได้ หรืออาจพูดง่ายๆ ว่า รัฐใช้ประโยชน์จากกฏหมายนี้เพื่อสืบสวนสอบสวนจับผิดกลุ่มผู้ที่เป็นเป้าหมาย คืออาจมีการใช้กฏหมายในทางไม่ชอบ เพราะมีช่องเปิดไว้เยอะมาก
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า ในยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสาร อาจมีการส่งอีเมล โดยอาจเข้ารหัสลับไว้ (encryption) ซึ่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็บอกว่าต้องถอดรหัสลับออกมา (decryption) ซึ่งมองว่า เป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่โดยไม่สนใจสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระดับปัจเจกเลย โดยขณะที่มีการพูดถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เธอตั้งคำถามถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกสอบสวนหรือผู้ใช้บริการ ซึ่งมาตรา 15 บอกว่าถ้ายินยอมสนับสนุนหรือยินยอมปล่อยให้มีการนำข้อมูลซึ่งเป็นความผิดต่างๆ เข้าสู่ระบบ ก็มีความผิดฐานเดียวกัน ซึ่งคำจำกัดความของ “ผู้ให้บริการ” ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ก็ตีความกว้างมาก และใช้เหมือนในยุโรป ซึ่งก็มีการต่อต้านมากมาย
นอกจากนี้ เธอแสดงความเห็นต่อการขอให้ศาลออกคำสั่งเพื่อไปจับกุมหรือสืบสวนซึ่งมีระบุไว้ทั้งในอนุสัญญาฯ และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ว่า ไม่แน่ใจว่ามีศาลไหนไหมที่ถ้าตำรวจทำคำร้องขอไปแล้วศาลจะปฏิเสธ เนื่องจากเป็นเรื่องเทคนิคและซับซ้อน โอกาสที่จะตั้งคำถามน้อยมาก นอกจากนี้แล้ว ในแง่สิทธิเสรีภาพ อนุสัญญาฯ ของยุโรป ก็เหมือนกับ พ.ร.บ. ของไทย ที่ไม่มีส่วนไหนที่พูดถึงสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องสงสัย ผู้ใช้ หรือผู้ให้บริการเลย โดยในกรณีของไทย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นเป็นใหญ่ เหมือนเป็นสุญญากาศทางกฏหมาย เนื่องจากเมื่อ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ออกมา พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ออก ขณะที่ในทุกประเทศที่เซ็นอนุสัญญาฯ ของยุโรป มี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่แล้ว
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของสมาชิกที่ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งสนใจและห่วงใยในเรื่องสิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์ โดยมีกิจกรรมหลักๆ คือ ติดตามผลกระทบจากการประกาศใช้ รวมทั้งพยายามมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา มองว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ส่อไปในทางคุกคามมากกว่าปกป้อง โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า ความมั่นคงแห่งชาติ ที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้พยายามปกป้อง อาจกลายเป็นการคุกคามความมั่นคงแห่งชาติด้วยตัวมันเอง จากการบังคับใช้ที่มีปัญหา
ความต่างข้อหนึ่งของอนุสัญญาฯ ของสภาแห่งยุโรป กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ของไทย คือ อนุสัญญาฯ มีเป้าหมายป้องกันการเกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ส่วนเรื่องเนื้อหาไม่ได้มีการกำกับ จะมีการกำกับดูแลเนื้อหาอยู่แค่เรื่องเดียว คือ การแพร่ภาพอนาจารเด็ก (child pornography) ซึ่งต่างจากมาตรา 14 ของไทยซึ่งควบคุมกำกับดูแลเนื้อหาอย่างกว้างขวาง ซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ที่สำคัญ คือ ในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป มีธรรมนูญสูงสุดคือ มาตรา 10 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของยุโรป กำหนดให้มีศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป โดยหากถูกตัดสินในศาลในประเทศ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพ เมื่อถูกนำมาสู่สิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ก็จะถูกตัดสินบนหลักของสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จะเห็นว่า ในยุโรปมีกลไกที่สอดคล้องกัน คือเรื่องสิทธิเสรีภาพก็ถูกปกป้องด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพ ส่วนเรื่องอนุสัญญาฯ ก็ไม่ได้ล่วงล้ำไปจำกัดเนื้อหา ยกเว้นเรื่องภาพโป๊เปลือยเด็ก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ พ.ร.บ.ไทย ยังคลุมเครือระหว่างเรื่องอาชญากรรมและสิทธิในการแสดงความเห็นและรับข้อมูลข่าวสารอย่างชัดเจน เพราะมาตรา 14 ให้ความกว้างๆ ว่า อะไรก็ตามที่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชนก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจตีความได้ด้วยตัวเอง และดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยได้ ซึ่งมองว่า ไม่รัดกุมและอาจก่อให้เกิดการใช้ที่ไม่เป็นธรรมได้ ทั้งนี้ เธอคิดว่า น่าจะมีมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่มากกว่านั้น ดังเช่นตัวอย่างในยุโรปที่ได้กล่าวไปแล้ว
น.ส.สุภิญญา เล่าว่า การเปิดช่องให้มีการตีความนำไปสู่การจับกุม โดยมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีภายใต้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในกรณีความมั่นคง 5 ราย ซึ่งก่อให้เกิดความตกใจของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและนำไปสู่บรรยากาศแห่งความกลัว รายแรกๆ ที่เป็นข่าวและถูกดำเนินคดีคือ พระยาพิชัยและท่อนจัน ถูกกุมขังเป็นเวลาหลายอาทิตย์ และได้รับการประกันตัว เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นได้ทราบข่าวอีกราย ซึ่งปัจจุบันยังถูกขังอยู่ คือ สุวิชา ท่าค้อ ซึ่งเป็นผู้ที่ทราบชื่อจริง ขณะที่รายอื่นทราบแต่ชื่อผู้ใช้ (username) โดยสุวิชาถูกจับ ตามป.อาญา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่าเป็นผู้โพสต์คลิปในยูทิวป์ (youtube.com) ซึ่งต้องพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล จากนั้น มีผู้หญิงอายุ 25 ปีถูกจับกุมภายใต้กฏหมายนี้และได้รับการประกันตัวไป โดยไม่มีใครทราบความคืบหน้า ต่อมา ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท จีรนุช เปรมชัยพร ถูกจับกุม เนื่องจากมีข้อความในเว็บบอร์ด ทั้งที่ได้ลบข้อความนั้นไปแล้ว แต่ถูกดำเนินคดี โดยให้เหตุผลว่า ลบช้า เพราะปล่อยไว้ถึง 20 วัน
น.ส.สุภิญญา กล่าวถึงปัญหาในการตีความข้อความในอินเทอร์เน็ตว่า ในเว็บบอร์ด ส่วนใหญ่คนจะโพสต์ข้อความที่ไม่เป็นทางการ หรือเป็นแสลง เปรียบเปรยเปรียบเทียบ โดยไม่ได้เอ่ยชื่อใคร ไม่ได้มีหลักฐานอ้างอิงในเชิงข้อเท็จจริง แต่เป็นการแสดงความเห็นในสถานะนิรนาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า หลายเรื่องที่ไม่สามารถฟ้องด้วยกฏหมายหมิ่นประมาทหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้โดยตรง เพราะการใช้กฏหมายหมิ่นประมาท ต้องชัดเจนว่าพูดถึงใคร และใครได้รับการพาดพิง แต่ในเว็บบอร์ด เปิดโอกาสให้พูด โดยไม่รู้ว่าพูดถึงใคร ถ้าคนไม่รู้บริบทก็ไม่รู้ว่าพูดถึงใคร เป็นเรื่องที่คนเขียนรู้เองหรือรู้จากการตีความ ถ้าเป็นมาตรฐานทั่วไป ก็ไม่ได้ถือว่าร้ายแรง เพราะไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง หรืออ้างอิงได้ในทางวิชาการ แต่สังคมไทยเอาจริงเอาจังกับการแสดงความคิดเห็นแบบนี้มากจนนำมาสู่การจับกุมดังกล่าว เนื่องจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เปิดให้เจ้าหน้าที่ตีความว่า อะไรขัดกับความมั่นคงของชาติและทำให้ตื่นตระหนก
ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ไม่มีการให้คำความจำกัดความที่ชัดเจนจากรัฐบาล เจ้าหน้าที่ไอซีทีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากรัฐต้องการให้ประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกกฏหมายจริงๆ ต้องนิยามออกมาให้ชัดว่า อะไรคือความมั่นคงของชาติ อะไรคือความตื่นตระหนก ตามมาตรา 14
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้ทำให้ธรรมชาติของสื่อใหม่เช่นอินเทอร์เน็ตในเมืองไทยหายไป พลวัตถูกทำให้ชะงักชะงันด้วยการบังคับใช้กฏหมายที่ไม่ชัดเจน เนื่องจากธรรมชาติของสื่ออินเทอร์เน็ตที่ต่างจากสื่ออื่น คือ ความเป็นนิรนาม (anonymous) ของผู้ที่ใช้ ซึ่งเกิดจากธรรมชาติของสิ่อใหม่ เทคโนโลยีและวัฒนธรรมเสรี ในอินเทอร์เน็ตทั่วๆ ไปในโลก เราแทบจะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ไม่สามารถทราบตัวตนของแต่ละคนได้ แต่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์กลับทำให้รัฐขอข้อมูลง่ายอย่างมหาศาล จนทำให้ความเป็นนิรนามหายไป อาทิ ต้องเก็บข้อมูลการใช้งานย้อนหลัง 90 วัน แสดงบัตรประชาชนเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ บังคับให้เว็บมาสเตอร์ให้ไอพีแอดเดรสกับเจ้าหน้าที่เพื่อสืบสาวต้นตอ และทุกวันนี้ ทราบมาว่า ตำรวจไทยใช้เวลาเพียงสามวันก็หาแหล่งโพสต์ได้แล้ว มันตัดตอนการเติบโตตามธรรมชาติของสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งควรมีพลวัต ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ หรือประชาธิปไตย ไม่เกิดในสังคมนี้ อย่างไรก็ตาม การปะทะกันระหว่างมาตรฐานกฏหมายไทยกับกระแสโลกนั้น คงต้องช่วยกันหาว่า จุดลงตัวจะอยู่ตรงไหน
กรณี ผศ.ดร.พิรงรอง ตั้งคำถามถึงการขอหมายศาลเพื่อจับกุมหรือสืบสวน พ.ต.อ.พิสิษฐ์ ระบุว่า ส่วนใหญ่การดำเนินการที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปต้องใช้คำสั่งของศาลเท่านั้น การค้นยึดปิดกั้นต้องได้รับการอนุมัติจากศาล ซึ่งศาลจะพิจารณาว่าจะกระทำได้หรือไม่ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องนำหลักฐานไปชี้แจงต่อศาล กรณีคำสั่งที่จะมีผลกระทบต่อผู้ใช้คอมพิวเตอร์ เช่น คำสั่งในการปิดกั้น ให้ส่งข้อมูลการใช้คอมพิวเตอร์ หากศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ศาลจึงจะออกคำสั่ง เพราะฉะนั้น ตำรวจเจ้าหน้าที่ไอซีทีต้องแสดงเหตุผลหลักฐานพยานต่อศาล ว่าการกระทำนั้นอยู่ในอำนาจที่ฟ้องต่อศาลได้ เช่น การแพร่ภาพลามก เจ้าหน้าที่มีอำนาจขอศาลปิดกั้นต้องเปิดให้ศาลดู ว่าประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ ถ้าศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยจึงจะปิดกั้นได้ ขณะที่การขอหมาย เช่น หมายค้น หมายจับ เพียงมีพยานหลักฐานที่เชื่อว่า ผู้นั้นกระทำความผิด ศาลก็ให้อำนาจในการตรวจค้น ยึด อายัด ออกหมายจับได้ โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการพิสูจน์ความผิดได้ เพราะไทยใช้ระบบกล่าวหา ถ้ากระทำผิด เจ้าพนักงานต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้่ว่าผิด
ในการขอคำสั่งขอหมายศาล มีหลายกรณีที่ศาลได้เคยปฏิเสธ อาทิ กรณีที่ไม่สามารถนำเสนอต่อศาลได้ หรือเหตุคลุมเครือ ศาลจะให้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม นี่จึงเป็นการคานอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ให้ดำเนินการโดยลำพัง โดยกลั่นกรองในระดับศาล ซึ่งเป็นกติกาสากลที่ทั่วโลกยอมรับ
ส่วนภาพที่ออกในสื่อที่เหมือนตำรวจใช้กฏหมายคอมพิวเตอร์คุกคามนั้น พ.ต.อ.พิสิษฐ์ กล่าวว่า ขอเรียนว่า ผู้ต้องหารายชื่อที่ปรากฏในเอกสารที่แจก (ล้อมกรอบด้านล่าง) ขอเรียนว่าเป็นพวกที่มีการกระทำความผิดโดยชัดเจนในคดีความมั่นคงแห่งรัฐ โดย 4-5 คนนี้โพสต์ข้อความโดยใช้คำพูดตรงไปตรงมาไม่ต้องตีความ ใช้เหตุการณ์โยงตัวบุคคลตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องตีความ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีระดับมาตรฐานในการดำเนินการ ได้แก่ หนึ่ง ผิดชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ ใช้คำพูดตรงไปตรงมา ระบุตัวบุคคล ระบุชื่อ ใช้ภาพใช้เหตุการณ์ระบุ ซึ่งไม่ต้องตีความ พวกนี้ต้องดำเนินคดี ต้องปิดกั้น สอง พวกที่ใช้คำพูดเฉียดไปเฉียดมาในเว็บบอร์ด ถือว่า เทาๆ ก็จะขอความร่วมมือให้เว็บมาสเตอร์ช่วยกรุณาลบออก ผ่านการประสานทางโทรศัพท์หรือทำเป็นหนังสือ จะเห็นว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เราไม่ได้ทำตามกฏหมายเป๊ะๆ เลย เพราะคำนึงถึงหลายๆ อย่าง เรื่องความละเอียดอ่อน เรื่องความมั่นคง บางครั้งนโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ นโยบายอยู่เหนือกฏหมาย
รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวเสริมว่า ไอซีทีมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน โดยขณะนี้พยายามจะทำให้เกิดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไฮสปีด บรอดแบนด์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้ แต่เวลานำไปใช้ สังคมไทยบางเรื่องเรายังนิยมซุบซิบนินทา นิยมการใช้บัตรสนเท่ห์ เรายังไม่กล้าาแสดงออกถึงตัวบุคคล หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อตัวบุคคล เวลาเราพูดอะไร เราอยากแค่ว่าชาวบ้าน แต่ไม่อยากให้เขาว่าเรา เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหาในแง่คุณธรรมและจริยธรรม เราอาจถูกกดมากเกินไป จึงไม่กล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง จึงทำให้ภาพบัตรสนเท่ห์ ภาพของการซุบซิบนินทาจึงยังแพร่กระจายอยู่ พอมีโลกอินเทอร์เน็ตขึ้นมา เราเลยพยายามใช้ตรงนั้นแสดงภาพในสังคมที่เราเป็นอยู่ ซึ่ง ณ ปัจจุบันของโลก มัน ต้องเข้ามาสู่ยุคของความรับผิดชอบ เราจะให้องค์ความรู้ต่อใคร เราจะต้องรับผิดชอบในองค์ความรู้ที่เราให้เขาไป เราอยู่ดีๆ จะไปสอนให้เขาเสพกัญชา จะไปสอนเขาทำไม เพราะต้องการขาย หรือเป็นประโยชน์อื่นๆ รึเปล่า เพราะฉะนั้น เราต้องสามารถรับผิดชอบในการแสดงออกของตัวเองได้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น รัฐพยายามสร้างเครือข่าย แต่ถ้าใช้ซุบซิบนินทา เล่นพนัน ภาพโป๊ โลกมันคือะไร สิ่งที่ได้จากการลงทุนของรัฐคืออะไร
นายอังสุมาล กล่าวว่า เราเกิดมาในสังคมที่มีสิ่งไม่ดีที่เขาไม่อยากให้เราเห็น แต่โลกยุคใหม่ เรายังไม่มีวุฒิภาวะที่เพียงพอ เราบอกว่าจะจัดเรตหนัง เด็กก็เข้าไปดู คือปัญหาของวินัยไม่ได้ถูกสร้างจากจิต แต่ถูกสร้างจากการบังคับ เพราะ ฉะนั้น ทุกอย่างจึงไม่ได้ถูกสะสมภูมิคุ้มกันขึ้นมา ทำให้สิ่งต่างๆ ค่อนข้างวุ่นวาย เราจึงพยายามสร้างสิ่งดีๆ ขึ้นและเราเพียงแต่ปิดกั้นบล็อคนั้นๆ โดยส่งถึงศาล ศาลเป็นคนสั่ง ซึ่งเป็นกรณีชัดเจน ถ้าคลุมเครือเราก็ไม่ส่ง เพราะไม่รู้จะเขียนยังไง เรามองอย่างละเอียดรอบคอย ระมัดระวัง เพราะเรามีหน้าที่ส่งเสริม ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเลิกกิจการหรือหยุด เราต้องการให้สิ่งดีๆ ได้ป้อนไปสู่เยาวชนเราบ้าง สิ่งไม่ดีก็พยายามจะปิด และสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
นายอังสุมาล กล่าวว่า โลกของไซเบอร์ปิดกั้นยากมาก พอมีเรื่อง นสพ. ลง เช่น กรณีนักศึกษาสาวขายตัว ทุกคนเปิด hi5 ยิกเลย ทุกคนเหมือนไทยมุง ให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านั้น เราต้องยอมรับว่า เราพยายามจะเข้าถึง สร้างความเข้าใจ เรียกไอเอสพีมาพูดคุยกันว่า ท่านอาจดูแลไม่ทั่วถึง เราอาจจะเจอเราก็แจ้งท่านไป ท่านก็กรุณาช่วยเรา บางเรื่องถ้าเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งถูกแอบถ่ายที่ห้องน้ำ ดันไปออกเว็บให้เขา ก็ต้องขอให้ปิดกั้นให้เร็วที่สุด เพราะเกิดความเสียหายต่อตัวบุคคล จึงขอให้ปิดก่อนหมายศาล เพราะโลกของอินเทอร์เน็ตไม่เหมือน นสพ.ที่เป็นฉบับ หรือกระจายเสียงแล้วจบไป ใครเรียกดูเมื่อไหร่ก็ได้ ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจึงหาวิธีการที่จะลดความเสียหายที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด คนที่เสียหายเท่านั้นถึงจะรู้สึกว่าทำไมจึงทำงานช้า คนที่ไม่เสียหายอาจจะบอกแค่ 20 วันจะเป็นไรไป ดังนั้น ในอนาคตคงต้องมีความร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งและสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า เยาวชนในอนาคตจะอยู่ในสังคมไทยอย่างไร ถ้าเรามีแต่เรื่องของการมอมเมา ต้องคุยกันว่ามีวิธีอย่างไรที่เราจะสนับสนันในด้านดีๆ บ้าง ต้องมีการสร้างโครงข่าย เครือข่ายต่างๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุน
พ.ต.อ.พิสิษฐ์ ตอบคำถามผู้ร่วมเสวนาประเด็นที่เห็นว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องปรับปรุงมีอะไรบ้าง
มาตรา 14 ซึ่งพูดถึงการกระทำต่อระบบคอมพิวเตอร์ และมีความผิดอาญาฐานเดียว พูดเฉพาะกรณีลามก แต่ปัจจุบันที่แพร่หลายในอินเทอร์เน็ต มากกว่า 90% เป็นความผิดฐานอื่น ซึ่งเมื่อปรากฏในระบบอินเทอร์เน็ตแล้ว ไม่สามารถนำกฏหมายฉบับนี้ไปบังคับใช้ในความผิดนั้นได้ อีกส่วนมองว่า มาตรา 20 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีไอซีทียื่นคำร้องต่อศาลในกรณีที่ปิดกั้นข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งเจตนารมณ์ของผู้เขียนกฏหมายมุ่งหวังปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เน็ต โดยให้มีการกลั่นกรองหลายชั้น ซึ่งบางครั้งอาจไม่ทันเวลา เนื่องจากกระบวนการใช้เวลา 15 วันกว่าจะถึง 15 วันความเสียหายอาจจะไปถึง 5 รอบโลก ฉะนั้น อาจจะลดขั้นตอนลง เพื่อระงับความเสียหายจากข้อมูลนั้นๆ
คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตำรวจใช้เวลาเท่าไหร่ในการสรุป ว่ากระทำผิดจริง
กรณีของสุวิชา ท่าค้อ ดีเอสไอตามมาเป็นเวลา 6 เดือน ทุกรายมีการติดตามไม่ต่ำกว่า 6 เดือน บางรายเป็นปี
บุคคลพวกนี้ใช้คำพูดตรงไปตรงมาไม่ต้องตีความ ต้องติดตามพฤติกรรม ดูเจตนาว่า คึกคะนองหรือมีเจตนาจริงๆ โดยการพิจารณา ทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกระดับชั้น โดยมีการถกว่าเป็นการโพสต์โดยคึกคะนอง หลงผิด หรือว่าถูกชักจูง
มาตรฐานที่จะไม่เข้าข่าย “เจตนา” คืออย่างไร
ไอซีทีและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งไอเอสพี ไอซีที เว็บมาสเตอร์ มาหารือ เพื่อหามาตรฐานการทำผิดในเว็บไซต์ ได้ข้อสรุปว่า หนึ่ง ให้อยู่ในดุลยพินิจของเว็บมาสเตอร์ว่าผิดกฏหมายหรือกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ หรือไม่ ถ้ากระทบให้เว็บมาสเตอร์ลบออกด้วยตัวเอง ถ้ายังปรากฏ แต่พนักงาน เจ้าหน้าที่ เห็นว่าปล่อยไว้จะเกิดความเสียหาย จะทำการเตือน เป็นหนังสือให้ดำเนินการ แต่ถ้าเว็บมาสเตอร์เห็นว่าไม่น่าจะเสียหายและปล่อยต่อไป จะเข้าสู่กระบวนการเอากฏหมายมาบังคับใช้ โดยเมื่อมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ ก็จะสอบสวนดำเนินคดีกับเว็บมาสเตอร์นั้นๆ
กรณีประชาไท ตนเองไม่ใช่พนักงานสืบสวน แต่มองว่าในกรณีเว็บประชาไท มีประชาชนจำนวนมากที่ร้องเรียนเข้ามายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า มีการปล่อยปละละเลยให้มีผู้โพสต์ข้อความผิดกฏหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐในเว็บบอร์ด บางข้อความค้างอยู่ 4 เดือน ไม่ใช่เพียงข้อความเดียว แต่มีจำนวนมาก ต้องมองในเรื่องเจตนา อาจจะหลงลืม แต่บางข้อความทิ้งไว้เป็นเดือนๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปล่อยปละละเลยหรือไม่ เปรียบ เหมือนท่านเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ มีผู้เขียนจดหมายมายังท่านซึ่งเป็นข้อความที่ผิดกฏหมายแล้วท่านก็ยังพิมพ์ ข้อความเหล่านั้น การปล่อยให้ข้อความปรากฏในเว็บก็เหมือนกับการพิมพ์หนังสือแล้วปล่อยให้พิมพ์ ข้อความซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็มองถึงเจตนาได้เช่นกัน ทางตำรวจได้พิจารณารอบคอบถึงผลกระทบ ว่าการจับกุมกระทบถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อ แต่บางครั้งก็ต้องทำ เพราะมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ แม้กระทั่งการพูดจาในสภาฯ ใน คณะกรรมาธิการต่างๆ มีหนังสือส่งมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินคดีกับเว็บมาสเตอร์หลายราย ซึ่งเราก็พิจารณาเป็นรายๆ ไป ขอเรียนว่าเราใช้การกระทำที่ละเอียดรอบคอบชัดเจน แต่บางครั้งเราชี้แจงไม่ได้ เพราะข้อความเหล่านั้นไม่สามารถนำมาชี้แจงได้ จึงทำให้สังคมมองเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านเดียว ซึ่งเราไม่สามารถตอบโต้ได้ว่า ทำไมถึงจับกุม
มีมาตรฐานในการมองว่า อะไรคือความเห็นทางวิชาการ อันไหนคือความมั่นคงอย่างไร
ผู้ต้องหา 4-5 ราย ใช้ข้อความตรงไปตรงมา มีชื่อชัดเจน กล่าวถึงเหตุการณ์ที่โยงได้ว่าคือใคร ไม่สามารถยกข้อความมาในที่นี้ได้ จากการเฝ้าตามพฤติกรรมมากว่า 6 เดือนก็ยังไม่เลิก แสดงถึงเจตนาที่จะกระทำ เพราะหลักกฏหมายไทย กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ถ้าทำวันเดียวแล้วหายไปเลย ไม่มีใครยุ่ง แม้จะตรงไปตรงมา แต่พูดทุกวันก็ส่อเจตนา อย่างไรก็ตาม การดำเนินการอาจแบ่งได้หลายกลุ่มมีทั้งที่ต่อต้านเลย หลงผิดเพราะถูกครอบงำความคิดในทางที่ผิด เราจะผลักเขาไปสู่กลุ่มที่หนึ่งหรือ เราก็มีนโยบายทำอย่างไรที่จะนำกลับมา เช่นเดียวกับการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในคำสั่ง 66/23 คนพวกนี้จะยืนอยู่ตรงกลาง พร้อมจะไปข้างใด ข้างหนึ่ง ทำอย่างไรที่จะนำกลับมาในสังคมไทย
มีเว็บที่ขึ้นบัญชีดำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหรือไม่
มี 4-5 เว็บ ไม่ใช่บัญชีดำ แต่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเว็บไซต์ที่แสดงความเห็นตามที่สาธารณะ บางเว็บ 90% ของผู้มาแสดงความเห็นมีลักษณะกระทบสถาบันของชาติ ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐและพลเมืองของประเทศไทยต้องจับตามองเป็นพิเศษว่า ทำไมเว็บอื่นจึงมีความหลากหลาย มีความคิดเห็นเรื่องนก เรื่องหมา เรื่องต้นไม้ เรื่องการเมือง แต่เว็บนี้มีแต่เรื่องนั้นทั้งนั้น ก็ต้องจับตามองนอกจาก 5 รายในเอกสาร (ดูด้านล่าง) มีรายอื่นที่ถูกจับ หรือจะมีการจับกุมอีกหรือไม่
มีอีก 2-3 รายที่อยู่ระหว่างติดตามพฤติกรรมอยู่
..........
ผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของรัฐ ภายหลัง กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2550
สรุปข้อมูลโดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต, 27 มีนาคม 2552
แหล่งที่มาของข้อมูล www.prachatai.com
1. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งใช้นามแฝงว่า ‘พระยาพิชัย’ อาชีพผู้ดูแลเว็บ (Web administrator) เป็นชายอายุประมาณ 30 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมตัวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ด้วยความผิดตามมาตรา 14 (1) และ (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ถูกฝากขังเป็นระยะเวลากว่า สองอาทิตย์ จากนั้นได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 ด้วยวงเงิน 1 แสนบาท
2. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งใช้นามแฝงว่า ‘ท่อนจัน’ อาชีพอิสระ และเป็นบล็อกเกอร์ (Blogger) ผู้หญิงอายุ 37 ปี ถูกบุกจับกุมตัวในวันเดียวกันกับ ‘พระยาพิชัย’ และถูกฝากขังจากนั้นได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2550 ด้วยวงเงิน 1 แสนบาท
ทั้งสองถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษคลองเปรม โดยที่สังคมไม่ได้รับรู้และไม่ได้รับการประกันตัวจนกระทั่งมีกระแสข่าวจาก สื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าว จึงทำให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวจากองค์กรสื่อและสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่าง ประเทศ จากนั้นทั้งสองได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละหนึ่งแสนบาท โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ทั้งสองมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2550
ซึ่งต่อมาทั้งสองคดีนี้ ไม่ปรากฏว่าทางอัยกาได้สั่งฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี
3. นายสุวิชา ท่าค้อ อายุ 34 อาชีพวิศวกร ถูกตำรวจจับกุมตัวที่ขณะกำลังเดินซื้อของในจังหวัดนครพนม พร้อมกับถูกบุกค้นบ้านในกรุงเทพที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2552 โดยแผนกสอบสวนพิเศษ Department of Special Investigation (DSI) ข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (2) และ มาตรา 112 ประมวลกฏหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระหว่างที่ถูกฝากขังนายสุวิชาได้ขอประกันตัวสองครั้งแต่คำร้องถูกยกทั้งสองครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 อัยการได้ส่งฟ้องศาลกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยการโพสต์รูปและข้อความลงบนอินเตอร์เน็ต โดยใช้นามแฝง 2 ชื่อ
ทั้งนี้ อัยการ ระบุว่า ผู้ต้องหาซึ่งถูกอัยการสั่งฟ้องกระทำความผิดโดยร่วมกับพวกที่หลบหนี หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่า จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กโทรนิกส์หรือวิธีการอื่นใดโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อัยการขอให้ลงโทษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91 และ 112 และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14, และ 16 จำเลยให้การต่อศาลรับสารภาพว่าตนได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา โดยศาลนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 9.00 น.ที่ ศาลอาญารัชดา
4. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 25 ปี ซึ่งถูกกล่าวว่าเป็นเจ้าของนามแฝง ‘Buffalo Boy’ ถูกจับกุมช่วงวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552 สืบเนื่องจากข้อความที่ถูกโพสต์ในเว็บบอร์ดประชาไท หลังจากถูกฝากขังได้สักระยะ จึงได้มีการขอประกันตัวออกไปด้วยวงเงิน 2 ล้าน บาท ปัจจุบันไม่มีใครทราบรายละเอียดของผู้ถูกดำเนินคดีรายนี้ ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ข่าวออนไลน์ประชาไท ได้รับทราบเรื่องนี้จากตำรวจเนื่องจากนายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการประชาไทได้รับการเชิญตัวไปให้ปากคำในฐานะพยานในกรณีดังกล่าว
5. นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร อายุ 42 ปี ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท www.prachatai.com ถูกจับกุมและบุกค้นสำนักงานโดยกองปราบปราม (Crime Suppression Division) เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552 ตามความผิดในมาตรา 14 และ 15 ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องด้วยข้อกล่าวหาว่า ได้ดำเนินการปล่อยให้ข้อความของ Buffalo Boy ซึ่งถูกนำมาโพสต์โดยผู้ใช้ชื่อว่า Bento ในพื้นที่เว็บบอร์ดเป็นระยะเวลากว่า 20 วันก่อนที่จะลบข้อความออก นางสาวจีรนุชได้รับการประกันตัวออกไปในวันเดียวกันด้วยหลักประกันประมาณ 70,000 บาท ทั้งนี้ได้ใช้ตำแหน่งข้าราชการมหาวิทยาลัยของรองศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัว
คดีของนางสาวจีรนุชถือเป็นรายเดียวที่ได้รับการประกันตัวในวันที่ถูกจับกุมใน ขณะที่รายอื่นโดนฝากขังเป็นระยะเวลาประมาณหลายอาทิตย์หรือไม่ได้รับการประกันตัวอย่างกรณีของนายสุวิชา ท่าค้อ
ในทุกกรณีทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการ ยึด และตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีของนางสาวจีรนุชที่ตำรวจได้มีการโคลน (Clone) หรือลอกข้อมูลจากหน่วยความจำทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ออกมาแล้วคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับนางสาวจีรนุช
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดตามมาตรา 14
หมายเหตุ
ดาวน์โหลดคลิปเสียงการเสวนาได้ที่ SIU (34.47 Mb) (ขอบคุณไฟล์เสียงจาก http://www.siamintelligence.com)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น