หมายเหตุ: LM Article


LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง

LM watch



วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สังคมไทยต้องคุยกันตรงๆ เสียที

ที่มา: ประชาไท (31/8/2551)


สังคมไทยต้องคุยกันตรงๆ เสียที:
ความเห็นและข้อมูลเพิ่มเติมต่อบทความ "ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ"

กานต์ ทัศนภักดิ์ [1]

บทความ "ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ" [2] ของเกษียร เตชะพีระ ได้ให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับ "ความบกพร่องพิกลพิการของระบบการเมืองประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งดังที่เป็นอยู่" และวิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยผู้เขียนได้ชี้และแสดงความวิตกว่า "วิธีการ" คือปัญหาที่สำคัญยิ่งของกลุ่มนี้ "...ในสายตาผม แนวโน้มน่าห่วงที่สุดของม็อบพันธมิตรฯ คือท่าทีต่อปัญหาจริยธรรมว่าด้วยวิธีการ (the ethics of means)"

แต่ในความเห็นของผม แม้ข้อมูลที่บทความดังกล่าวยกมาจะมากมายเพียงใด ก็ยังไม่ครบถ้วนพอ เพราะการวิเคราะห์ "ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ" ยังมีอีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณา ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม บทความดังกล่าวได้ละเว้นไป จนน่าวิตกว่า หากพิจารณาโดยใช้เฉพาะข้อมูลที่บทความได้นำเสนอ จากต้นจนจบ มาสนับสนุนข้อสรุปในตอนท้าย ที่ว่า "เราเดินมาถึงจุดนี้วันนี้ได้ก็เพราะความผิดพลาดใหญ่บ้างเล็กบ้างและที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย" ท้ายที่สุด บทความนี้ก็จะถูกหยิบฉวยไปใช้เพียงเพื่อตอกย้ำว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดในขณะนี้ มาจากความการกระทำของ "คู่ขัดแย้ง" ที่มีส่วนเลวด้วยกันทั้งคู่ เท่านั้นเอง

การเสนอว่า "เราเดินมาถึงจุดนี้วันนี้ได้ก็เพราะความผิดพลาด...ของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย" จะสามารถยอมรับได้โดยไม่มีข้อกังขา ก็ต่อเมื่อพื้นที่ของการต่อสู้ของคู่ขัดแย้งนั้นไม่ใช่ "สังคมไทย" หรือในทางกลับกันก็คือ เมื่อพื้นที่ของการต่อสู้คือสังคมไทย บทความดังกล่าวก็ได้วิเคราะห์และให้ข้อสรุปโดยละเลยบริบทที่สำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งไป

บริบทที่ว่าก็คือ "ลักษณะพิเศษของสังคมไทย" ซึ่งทุกคนรวมทั้งผู้เขียนบทความ "ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ" ต่างก็ทราบดี เพียงแต่เราล้วนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงและยอมรับในพื้นที่สาธารณะว่า
ภายใต้สังคมอัน "พิเศษ" นี้...

1. สิทธิ ของ "บางอุดมการณ์" กับอุดมการณ์อื่นๆ ในประเทศนี้ไม่ได้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าในแง่ของการเลือกรับ/ปฏิเสธ หรือเพียงวิพากษ์วิจารณ์
2. ยิ่งอวดอ้างต่อสาธารณะว่าตนสมาทาน "บาง อุดมการณ์" อย่างสุดโต่งมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้สามารถใช้เงื่อนไขใน (๑) เบียดขับอุดมการณ์ (หรือแม้แต่บุคคล) อื่นออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลได้

3. ไม่ เพียงไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้เท่านั้น เพียงแค่ไม่แสดงตนว่าสมาทาน "บางอุดมการณ์" อย่างสุดโต่ง ก็สามารถทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นจำเลยในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์ ดังกล่าวได้ ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทยยืนยันโดยชัดเจนว่า ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่ บทลงโทษต่อจำเลยในข้อหาดังกล่าวของสังคมอัน "พิเศษ" นี้ อยู่ในระดับที่น่าสะพรึงกลัว

4. วัฒนธรรม การใช้เหตุผลเพื่อวิเคราะห์และ/หรือโต้แย้งในประเด็นการเมืองและสังคมมีความ อ่อนแอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ หลายครั้งที่งานวิจัยซึ่งทุ่มเทศึกษามาอย่างจริงจังถูกปฏิเสธและต่อต้านแม้ ในผู้ที่ไม่เคยเปิดอ่าน ขณะที่ข่าวลือหรือแม้แต่ถ้อยบริภาษลอยๆกลับสามารถถูกยกระดับเป็นความเชื่อ และทำให้เกิดความรู้สึกร่วมจนต้องการใช้ความรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว


ดังนั้น การใช้ "บางวิธีการ" อย่างเลยเถิดของพันธมิตรฯ เพื่อขยายแนวร่วมและสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวของตนเอง จนเกิดความเกลียดชังไปทั่วสังคมไทย และเกิดผลเป็นวิกฤตการณ์ดังที่เราเห็นกันอยู่นี้ จึงไม่ใช่ "ฝีมือ" ของพันธมิตรฯเพียงฝ่ายเดียว หรือบวกกับความผิดพลาดเลวร้ายของรัฐบาลนี้ เท่านั้น แต่เป็น "ผลงานร่วม" ของสิ่งที่เราเรียกกันว่า "สังคมไทย" ด้วย

และส่วนที่ขาดหายไปในบทความ "ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ" ก็คือการที่ผู้เขียนได้วิจารณ์ "วิธีการ" ของพันธมิตรฯ ที่ "...หยิบฉวยประเด็นร้อนแรงแหลมคมต่าง ๆ ไม่ว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ปลุกความคลั่งชาติเรื่องดินแดน ฯลฯ มาเป็นยุทธวิธีปลุกเร้าผู้คนให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลและทักษิณ..." โดยละเว้นที่จะบอกว่า การที่พันธมิตรฯรู้สึกฮึกเหิมต่อ "บางวิธีการ" ถึงขนาดนี้ และการที่พันธมิตรฯสามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้อย่างสัมฤทธิ์ผลคือทำให้ขบวนการของตนเติบโตจนถึงระดับที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก "ลักษณะพิเศษของสังคมไทย"

เช่นเดียวกัน, การ "พูดไม่หมด" ของบทความดังกล่าว แม้จะด้วยเจตนาดี แต่ในสังคมที่มี "ลักษณะพิเศษ" เช่นนี้ อาจกลายเป็นการช่วยตอกย้ำข้อเสนอจากจินตนาการทางจริยธรรม ที่ว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความ "ไม่ดี" พอๆ กันของ "คู่ขัดแย้ง" ที่มีส่วนเลวด้วยกันทั้งคู่ - ฝ่ายหนึ่งพฤติกรรมในการบริหารบ้านเมืองเลว (ซึ่งน่าสงสัยว่าอาจมาจากเป้าหมายที่เลว) อีกฝ่ายใช้วิธีการเลว (ซึ่งน่าสงสัยว่าจะเป็นตัวทำให้เป้าหมายนั้นเลวในที่สุด) และเพรียกหา "คนดี" มาสร้างความ "สงบชั่วคราว" ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

หรืออาจเลยเถิดไปยิ่งกว่านั้น คือถูกฉวยไปใช้สนับสนุนข้อเสนอย้อนยุคที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ได้ส.ส.มาด้วยการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นไม่เหมาะกับสังคมไทย รังแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งซ้ำซาก เพราะประชาชนยังโง่เขลาจนตกเป็นเหยื่อของการซื้อเสียง ...ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ในสังคมที่มี "ลักษณะพิเศษ" เช่นนี้

ที่แน่ๆ คือ สุดท้ายแล้ว เรื่องนี้ก็จะจบลงโดยที่ไม่มีการสรุปบทเรียนของ "สังคมไทย" (อีกตามเคย)

ซึ่งหากไม่ต้องการเช่นนั้น เราก็จำเป็นต้องค้นหาบทเรียน ด้วยการประเมินข้อเท็จจริงทั้งหมดที่มีอยู่และกล้าที่จะพูดคุยกันอย่าง "ตรงไปตรงมา" เสียที

มิเช่นนั้น ต่อให้เราสามารถ "หลีกพ้นหุบเหวนี้" ได้ในวันนี้ แต่ถ้าหากเรายังคงทำเป็นมองไม่เห็นบางข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขสำคัญอยู่ เราก็จะเดินวนกลับมาที่ปากเหวนี้อยู่ร่ำไป จนพลัดตกลงไป (อีกครั้ง) ในที่สุด

ยอมรับกันตรงๆ เถิดครับว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้เราเดินมาถึงขอบเหวในวันนี้ได้ ก็เพราะเราต่างก็ช่วยกันสร้างและรักษา "สภาพพิเศษ" ของสังคมไทย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยหุบเหวอันลึกลับมืดมนตลอด มา



[1] Asian Public Intellectuals Fellowships Program
[2] เกษียร เตชะพีระ, ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ, http://www.prachatai.com/05web/th/home/13392

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น