หมายเหตุ: LM Article


LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง

LM watch



วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ปรากฏการณ์ปั่นพอง และปฏิกิริยาโต้กลับ: กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการเซ็นเซอร์ตัวเองของหนังสือพิมพ์กระแสหลัก

ที่มา: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2551)

ปรากฏการณ์ปั่นพอง และปฏิกิริยาโต้กลับ:
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการเซ็นเซอร์ตัวเองของหนังสือพิมพ์กระแสหลัก
[1]

ประวิตร โรจนพฤกษ์

เช้าตรู่ของวันที่ 5 มกราคม 2551 ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสาร ฟ้าเดียวกัน และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน (http://www.sameskybooks.org) แจ้งให้ทราบว่าเว็บไซต์ถูกปิด โดยธนาพลเชื่อว่าทางการอยู่เบื้องหลัง [2] ผู้ เขียนถามว่า รู้ไหมว่าทำไมเขาถึงปิดเว็บ ก็ได้คำตอบว่าน่าจะมาจากการแสดงความเห็นที่มีลักษณะวิพากษ์เกี่ยวกับการสิ้น พระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ณ วันที่ 2 มกราคม 2551 ในกระดานสนทนา

เว็บไซต์ ฟ้าเดียวกันเป็นหนึ่งในไม่กี่เว็บไซต์ที่มีพื้นที่ให้กับการวิพากษ์สถาบันฯ ในขณะที่อีกเว็บไซต์หนึ่งซึ่งได้แก่ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไท (http://www.prachatai.com) ก็ ยังเลือกที่จะปิดมิให้ผู้อ่านแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจากไปของสมเด็จพระ เจ้าพี่นางเธอฯ หลังจากที่มีการแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์จำนวนหนึ่ง และถูกมองว่าสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เสียง นายธนาพลออกจะค่อนข้างแปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเขาคงเชื่อว่าเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันเปรียบเสมือนเพียงปลาเล็กๆ ตัวหนึ่งในมหาสมุทร และการแสดงความเห็นในเว็บไซต์ก็กระทำอย่างเปิดเผย (ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเด็นนี้ในตอนท้ายของบทความ)


1. คำถามที่ควรถาม
บท ความนี้เสนอว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีบทบาทสำคัญยิ่งในการคงไว้ซึ่งสภาพการเซ็นเซอร์ ตัวเองหรือวัฒนธรรมความกลัวในกลุ่มและองค์กรที่มองสถาบันกษัตริย์อย่างเท่า ทัน และช่วยดำรงไว้ซึ่งเปลือกขอมุมมองที่ว่า ไม่มีผู้ใดปรารถนาหรือต้องการแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันฯ และความปรารถนาเช่นนี้ของประชาชนขัดกับภาพที่สื่อกระแสหลักพยายามเสนอ เช่นการเสนอว่า พระเจ้าอยู่หัว “เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม (absolute morality)” [3]

การคงไว้ซึ่งเปลือกผิวของมุมมองนี้เป็นเรื่องยาก เพราะว่าแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์นิยมเจ้าอย่าง ผู้จัดการรายวัน ก็ได้รายงานว่า มีเว็บไซต์จำนวนหนึ่งที่วิพากษ์หรือกระทั่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันฯ [4] ใน ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์กระแสหลักบางฉบับก็ปล่อยให้มีบทความกึ่งวิพากษ์บ้าง เป็นบางครั้ง ดังนั้น เราจะทำความเข้าใจความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนเกี่ยวกับการถูกเซ็นเซอร์และ เซ็นเซอร์ตัวเองของหนังสือพิมพ์ไทยได้อย่างไร

การเซ็นเซอร์ของสื่อเป็นเพียงการปฏิบัติตามกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี เพียงเท่านั้น หรือว่ามีปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ อย่างสลับซับซ้อนกว่านั้น และคำถามที่สำคัญที่สุดคือ ผลของการถูกเซ็นเซอร์และเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ ทำให้เกิดปรากฏการณ์และปฏิกิริยาอะไร โดยในบทความชิ้นนี้เสนอว่าทำให้เกิดปรากฏการณ์ปั่นพองและแรงโต้กลับ


2. ปัจจัยและผู้เล่นต่างๆ
มัน แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจความสลับซับซ้อนของการถูกเซ็นเซอร์และ เซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อไทยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยที่ไม่นับปัจจัยและผู้เล่นต่างๆ เข้ามาในสมการ ปัจจัยและผู้เล่นเหล่านี้ได้แก่ เจ้าของสื่อ บรรณาธิการ นักข่าว การไร้ซึ่งจุดยืนขององค์กรสื่อ ตลาดหุ้น กฎหมายหมิ่นฯ ฯลฯ


บรรณาธิการหนังสือพิมพ์
กล่าวได้ว่า บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ คือทวารบาล (gate keeper) แห่ง ข้อมูลข่าวสารของหนังสือพิมพ์ ผู้คนเหล่านี้จะตัดสินใจว่าอะไรควรลงพิมพ์หรือไม่ ประเด็นละเอียดอ่อนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทำให้พวกเขาต้องใช้วิจารณญาณ อย่างระมัดระวังเพื่อปกป้องมิเพียงแต่สถาบันฯ เท่านั้น แต่ปกป้ององค์กรตนเอง รวมถึงความมั่นคงทางอาชีพของตนด้วย

บรรณาธิการบริหารผู้หนึ่งของหนังสือพิมพ์คุณภาพภาษาไทย (ต่อไปจะเรียกว่า บ.ก. A) กล่าว ในการให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า ในบางครั้งบรรดา บ.ก. ที่เกี่ยวข้องอาจจะประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับความเหมาะสมของข่าวบางชิ้น ว่าอ่อนไหวต่อสถาบันกษัตริย์หรือเสี่ยงเกินไปหรือไม่ ถ้าจำเป็นก็จะมีการขอความเห็นจากเจ้าของสื่อ แต่ที่ผ่านมาในประสบการณ์กว่า 2 ทศวรรษของเขา เหตุการณ์ที่ต้องขอความเห็นจากเจ้าของสื่อยังไม่เคยเกิดขึ้นเพราะบรรณาธิการ สามารถตัดสินใจเองได้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ และยังได้ย้ำอีกว่า ถ้าบรรณาธิการเหล่านั้นมีอายุงานใกล้เคียงกัน พวกเขาก็มักจะมองอะไรไม่ต่างกันในเรื่องนี้ นี่แสดงให้เห็นว่า มีการเรียนรู้ภายในองค์กรว่าอะไรทำได้ อะไรต้องห้ามบรรณาธิการอีกคนซึ่งเป็นบรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์ไทย ภาษาอังกฤษ (ต่อไปจะเรียกว่า บ.ก. B) กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้แต่นักข่าวก็ทำหน้าที่เป็นทวารบาลแห่งการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารในระดับหนึ่งด้วย

ดู เหมือนว่าหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะต้องตีความกันเองว่าเส้นแบ่งของการ เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตรงไหนซึ่งการที่หนังสือพิมพ์บางฉบับมีพื้นที่กึ่ง วิพากษ์ให้เห็นเป็นบางครั้งนั้น แสดงถึงความแตกต่างในการตีความ ตัวอย่างที่ชัดอันหนึ่งคือ กรณีการเลือกที่จะรายงานหรือไม่รายงานข่าวกรณีชาวสวิสชื่อนายรูดอล์ฟ ยูเฟอร์ (Rudolf Jufer) ที่พ่นสีสเปรย์ทับพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง 5 รูปที่เชียงใหม่ หนังสือพิมพ์ไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่รายงานข่าว ในขณะที่มี 2 ฉบับรายงานข่าวมากกว่าฉบับอื่นๆ คือ หนังสือพิมพ์ไทยภาษาอังกฤษ Bangkok Post และ The Nation ซึ่ง The Nation ใน ตอนแรกที่นายยูเฟอร์ถูกจับโดยตำรวจไทย ก็เลือกที่จะไม่รายงาน โดยข่าวส่วนใหญ่ที่รายงานก็มักเป็นข่าวที่อ้างจากสื่อต่างประเทศเพื่อเป็น การ “เพลย์เซฟ” และไม่มีฉบับไหนพยายามขุดค้นหาคำตอบว่าทำไมนายยูเฟอร์ถึงได้กระทำไปเช่นนั้น เมื่อมีการ “พระราชทานอภัยโทษ” หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ก็รายงานเพียงแต่ว่านายยูเฟอร์จะเดินทางออกจาก (”leave”) ราชอาณาจักร [5] ในขณะที่ The Nation เขียนว่านายยูเฟอร์จะถูกเนรเทศ (”deported”) [6] ความต่างเรื่องการใช้คำเล็กๆ น้อยๆ ในกรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงการตีความอันต่างกันว่า อะไรพิมพ์ได้ อะไรไม่ควรพิมพ์ [7]

กรณีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองคนซึ่งใช้นามปากกาว่า “ท่อนจัน” และ “พระยาพิชัย” ในเดือนสิงหาคม 2550 เพราะโพสต์ข้อความวิพากษ์หมิ่นเหม่ต่อสถาบันฯ ก็เช่นกัน มีเพียงหนังสือพิมพ์ The Nation ที่รายงานข่าว โดย

บ.ก. A กล่าว ว่า หนังสือพิมพ์ที่เธอทำงานอยู่ได้ตรวจสอบกับทางตำรวจ แต่ได้รับการขอความร่วมมือจากทางการว่า ไม่ควรเสนอข่าวเพราะว่ามีความพยายามจากหลายองค์กรของทางการเพื่อที่จะจัดการ กับบุคคลสองคนนี้

อีก ตัวอย่างหนึ่งคือ กรณีอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ซึ่งถูกอาจารย์ด้วยกันแจ้งความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากข้อสอบของเขามีคำถามเรื่องบทบาทสถาบันฯ กับการเมืองไทย หนังสือพิมพ์เกือบทั้งหมดก็เลือกที่จะไม่รายงานข่าว แม้ว่าจะเป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไทก็ตาม [8]

คุณลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นบรรณาธิการ “ที่ดี” ได้แก่ ความสามารถในการทำหน้าที่เซ็นเซอร์หรือเซ็นเซอร์ตัวเองในเรื่องเกี่ยวกับ สถาบันฯ ไม่ว่าเขาหรือเธอผู้นั้นจะมีความเห็นส่วนตัวต่อสถาบันฯ อย่างไร เห็นได้จากที่ บ.ก. A และ B แสดง ความเห็นเชิงวิพากษ์เท่าทันต่อสถาบันฯ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ ทั้งสองก็ยอมรับสภาพวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ที่เป็นอยู่ โดย บ.ก. A กล่าวถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า “เชยๆ นะ ก็ทุกอย่างจะดีจะเลว องค์กรนั้น สถาบันฯ นั้นๆ ต้องใช้ตัวเอง ทั้ง 3 สถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะดี จะเสื่อมก็เป็นโดยตัวเขาเอง กฎหมาย มันไม่ได้เป็นตัวทำให้ความมั่นคงนั้นยั่งยืนตลอดไป” ส่วน บ.ก. B กล่าวว่า “สื่อมีหน้าที่ทำให้คนฉลาดสื่อมีหน้าที่นำความจริงมาให้สังคมรับทราบ” แต่ในเรื่องสถาบันฯ นั้น เขาเห็นว่า สื่อทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้ นอกจากกราบไหว้ได้อย่างเดียว”

“สื่อสร้างกรอบและหลงตัวเอง [ว่า] มีเสรีภาพแล้ว… พูดจริงๆ ว่าเป็นความขมขื่น


นักข่าว
บ.ก. A ได้ ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นของเธอแล้ว นักข่าวรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจที่จะตั้งคำถามอย่างเท่าทันเกี่ยวกับบทบาทของ สถาบันกษัตริย์ หรือแสดงความเห็นเชิงท้าทาย และกล่าวว่า “แทบไม่มีความเห็นเช่นนั้นเลย และผลก็คือไม่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับบทบาทสถาบันฯ”

คำ ให้สัมภาษณ์นี้ขัดกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ที่ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนกับนักข่าวรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่ทำงานในหนังสือ พิมพ์กระแสหลัก ซึ่งพบว่า คนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยมีความคิดเห็นเชิงวิพากษ์และเท่าทันต่อสถาบันฯ อย่างไรก็ตาม ความเห็นนั้นเป็นสิ่งที่ถูกแสดงออกในวงพูดคุยกันส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมิมีใครต้องการที่จะพยายามรายงานหรือเขียนอะไรเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับ สถาบันฯ เพื่อให้สาธารณชนอ่าน แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องตระหนักว่ามันไม่มีแรงจูงใจใดๆ ที่จะให้นักข่าวเหล่านั้นคิด เขียนเรื่องทำนองนี้ลงในสื่อ และการกระทำเช่นนั้นคงมิเป็นผลดีต่อความก้าวหน้าในอาชีพ นักข่าวส่วนใหญ่ดูเหมือนจะมองว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องแสดงความเห็นเหล่านั้นต่อสาธารณะเพราะการกระทำเช่นนั้นย่อมจะเป็น การแกว่งเท้าหาเสี้ยน

มิ หนำซ้ำคำพูดของนักข่าวบางคนอาจมีผลในการทำลายกำลังใจหรือเปลี่ยนใจนักข่าว อื่นๆ มิให้คิดที่จะกระทำเช่นนั้น ผู้เขียนจำได้ว่าในกลางปี 2550 ได้คุยกับนักข่าวรุ่นน้องซึ่งบอกว่า เขาได้อ่านบทความของผู้เขียนเกี่ยวกับสื่อและสถาบันกษัตริย์ [9] และบอกว่าถึงแม้อาจจะเห็นด้วยกับเนื้อหา แต่รู้สึกว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการหาปัญหาใส่ตัว

นักข่าวอีกคนหนึ่ง (ต่อไปจะเรียกว่า นักข่าว C) ซึ่ง มีประสบการณ์ทำงานกว่าสิบปี ณ หนังสือพิมพ์ภาษาไทยกระแสหลักระดับแนวหน้าฉบับหนึ่ง บอกกับผู้เขียนในการให้สัมภาษณ์ว่า เขาคิดว่ามีนักข่าวรุ่นใหม่เพียง 1-2 คนในประมาณ 50 คน ที่เขารู้จักที่มีความคิดเชิงวิพากษ์และเท่าทันต่อสถาบันฯ และนี่เป็นข้อสรุปจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา ส่วนเรื่องของการเซ็นเซอร์นั้นนักข่าวผู้นี้กล่าวว่ามีระบบเซ็นเซอร์ตัวเอง ในองค์กร “เข้าใจว่าถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ก็จะมีการเซ็นเซอร์โดยอัตโนมัติ …เริ่มแรกมาจากตัวนักข่าวทุกคนอยู่แล้ว โดยการเซ็นเซอร์ตัวเอง มีอยู่ทุกคน ทุกระดับ”

นักข่าว C เสนอ ว่า บรรยากาศการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อน่าจะเกิดจากแรงกดดันจากผู้คนรอบๆ ในหลวงมากกว่าพระองค์เอง และในหลวงก็ยังเคยตรัสว่าประชาชนน่าจะวิจารณ์กษัตริย์ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ากลับไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะยกเลิกหรือแก้กฎหมายนี้ แถมในช่วงกลางปี 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่ง ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คมช. ยังพยายามที่จะขยายความคุ้มครองทางกฎหมายนี้ให้ครอบคลุมไปถึงพระบรมวงศานุ วงศ์และบรรดาองคมนตรี แต่ในที่สุดมติถูกถอนออกไป หลังจากมีข่าวว่าองคมนตรีบางคนไม่สบายใจกับการขยายขอบเขตของกฎหมายดังกล่าว [10]

นักข่าว C คิดว่า มีเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ที่ควรรายงานและถกเถียงกันอย่างเปิดเผยในทางสาธารณะ “ทุกเรื่องที่เป็นปัญหาที่คนสงสัยควรมีการนำเสนอพูดจา… ไม่มีอคติ โกรธเกลียด ให้สังคมได้คิด …ในยุคนี้มันจำเป็นมาก จะทำอะไรที่ปกปิดและเคลือบแคลงมันก็ยิ่งทำให้คนขุดคุ้ยซุบซิบส่งผลลบ…” แต่ทว่าในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมายและวัฒนธรรมในองค์กร นักข่าว C ได้ ข้อสรุปว่า เขาคงไม่พร้อมที่จะเริ่มรณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่อง นี้ และในความเป็นจริงแล้ว เขาเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าบทความชิ้นนี้อาจทำให้ผู้อ่านบางคนเดาออกได้ว่า เขาคือใคร ทำงานที่ไหน โดยได้โทรมาย้ำเรื่องนี้หลังจากการสัมภาษณ์เสร็จสิ้นไปแล้ว และขอให้ลบข้อความบางอย่างที่อาจจะทำให้ผู้อ่านสามารถเดาออกว่าเขาทำงานอยู่ ณ หนังสือพิมพ์ฉบับใด


การไร้ซึ่งจุดยืนและเป้าหมาย
นอก จากกฎหมายหมิ่นฯ แล้วปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มิเกิดการรายงานอย่างเท่าทัน หรือเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันฯ หรือแม้กระทั่งการรายงานอย่างเป็นกลางและสมดุล ได้แก่ ความเป็นจริงที่ว่าองค์กรสื่อกระแสหลักไม่เคยมีจุดยืนหรือเป้าหมายที่จะทำ หน้าที่นี้ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีบรรณาธิการและนักข่าวจำนวนหนึ่งที่มีมุมมองเท่าทันเชิงวิพากษ์ แต่หนังสือพิมพ์ทั้งหมดกลับเลือกที่จะทำหน้าที่ผลิตแต่ข่าวด้านบวก ยกฐานะกษัตริย์เป็นเสมือนสมมติเทพอย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่นตัวอย่างของหนังสือพิมพ์ The Nation ดัง ที่ได้กล่าวไปตอนต้นแล้ว นอกจากนี้ สื่อบางฉบับยังมักถือว่าการแสดงออกเชิงวิพากษ์และเท่าทันต่อสถาบันฯ เท่ากับเป็นการต่อต้านสถาบันฯ [11]

แหล่ง ข่าวที่ขอมิเอ่ยนามซึ่งทำงานที่หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับหนึ่งกล่าวว่า ในที่ทำงานของเขามีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรติดไว้เพื่อเป็นแนวทางให้ พนักงานทราบว่ามีอะไรบ้างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ห้ามเขียน นอกจากนี้ยังมีคำสั่งจากปากผู้บริหารและบรรดาบรรณาธิการให้ “ระมัดระวัง” เมื่อนักข่าวสัมภาษณ์แหล่งข่าว บางคนที่มีประวัติชอบแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันฯ


แรงกดดันและโน้มน้าวจากตลาด
บ.ก. A ได้กล่าวว่า หากหนังสือพิมพ์รายงานข่าวเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันฯ แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจมีผลกระทบต่อธุรกิจของหนังสือพิมพ์อย่างมหาศาล

“องค์กรสื่อนี่ไม่ได้อยู่ได้โดยอิสระจริงๆ และเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ [เป็น] องค์กรธุรกิจ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมันก็ต้องรับผิดชอบ”

ส่วน บ.ก. B เห็น คล้ายกันและบอกว่า หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ทุกวันนี้เป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีความอ่อนไหวต่อความเห็นสาธารณะซึ่งอาจมีผลต่อราคาหุ้นของบริษัท “ทุกคนพยายามปกป้องตัวเองให้ถึงที่สุด อาจจะเป็นยอดขายตก หรือคนบุกมาหนังสือพิมพ์ตัวเองจึงจำเป็นต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง” “สื่อทั้งหมดพยายาม ignore เขากลัวอันตรายที่จะมาถึงตัวมากกว่า …กลายเป็นสิ่งละเอียดอ่อนในสังคมไทยโดยใช่เหตุ”

นอก จากแรงกดดันแล้ว ดูเหมือนว่าสื่อยังมีแรงจูงใจที่จะเทิดทูนสถาบันฯ อย่างพร่ำเพรื่อ จนกระทั่งผู้ที่มองสถาบันฯ เชิงวิพากษ์รู้สึกว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อ แรงจูงใจที่ว่านี้ได้แก่การรับโฆษณาให้บริษัทและองค์กรต่างๆ ลงข้อความเทิดทูนเฉลิมฉลองสถาบันฯ และสมาชิกในราชวงศ์ เพื่อแสดงความจงรักภักดี ซึ่งเป็นแหล่งรายได้อย่างสม่ำเสมอที่ไม่อาจมองข้ามได้ ในวันสำคัญๆ ของราชวงศ์ หนังสือพิมพ์จะเต็มไปด้วยข้อความประเภทนี้หลายหน้า มากกว่านั้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับยังออกสิ่งพิมพ์เฉพาะกิจ เต็มไปด้วยรูปเฉลิมฉลองของในหลวง พระราชินี และราชวงศ์ เพื่อขายด้วย

ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ออกสิ่งพิมพ์ฉบับพิเศษ 12 สี ไซส์บรอดชีท เพื่อร่วม “ฉลอง” วันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งขายในราคา 20 บาท ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2550 ในเวลาเพียง 1 อาทิตย์หลังจากงานวันเฉลิมฯ มีสิ่งพิมพ์พิเศษลักษณะนี้อยู่อย่างน้อย 5 ฉบับ และในช่วงเดียวกันนี้ ยังมีสิ่งพิมพ์พิเศษบางชิ้นที่ขายตกค้างข้ามปี อย่างเช่นในช่วงเดือนธันวาคม 2550 ผู้เขียนยังพบสิ่งพิมพ์พิเศษเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 60 ปีของในหลวง ในปี 2549 หนา 67 หน้า ซึ่งพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และ โพสต์ทูเดย์ วางขายอยู่ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ย่านรามคำแหง อย่างไรก็ตาม ราคาของสิ่งพิมพ์ฉบับนี้ได้ลดลงจาก 99 บาทเหลือ 20 บาท


กฎหมายหมิ่นฯ และปรากฏการณ์ปั่นพอง
กฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพมิเพียงแต่ควบคุมไม่ให้ข้อความเชิงวิพากษ์และเท่าทัน ต่อสถาบันฯ ถูกผลิตโดยสื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์ปั่นพอง ปรากฏการณ์ปั่นพองนี้หมายถึง สภาพที่ความเชื่อและความเป็นจริงถูกปั่นผสมปนเปขยายไปสู่วงกว้างในขณะที่ ความคิดเห็นที่แตกต่างถูกกด มิให้มีที่ทางในสื่อกระแสหลัก จนเกิดความเชื่อที่ว่า คนทั้งสังคมมีทัศนคติต่อสถาบันฯ เหมือนกันหมด ยิ่งปั่นมากขึ้นเท่าไหร่ความเป็นจริงก็พองมากขึ้นเท่านั้น คล้ายๆ กับการปั่นหุ้น และอาการโป่งพองของถุงลม หรือเปรียบเทียบอีกอย่างคล้ายกับการปั่นจนเกิดโมเมนตัมในตัวของมันเอง ที่ก่อให้เกิดการนำเสนอเกี่ยวกับสถาบันฯ เกินความเป็นจริงและพอเพียง และดูเหมือนว่าสื่อจะตกอยู่ในสภาพที่แข่งกันเทิดทูนสถาบันฯ อย่างเกินงาม กลายเป็นควงสว่านที่ขยายตัวกว้างขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกล่าวได้ว่าทุกวันนี้การเสนอข่าวของสื่อเกี่ยวกับสถาบันฯ น่าจะเรียกได้ว่ามี “ส่วน ผสมระหว่างคำสรรเสริญเทิดทูนอย่างจริงใจและภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ผสมกับคำ ประจบที่มิได้จริงใจอย่างเกินงามและไม่รู้จักพอ แถมเคลือบด้วยโฆษณาชวนเชื่อขนานแรง” (”genuine praise mixed with disgenuine and excessive flattery laced with a heavy dose of propaganda”)

ใน ความเป็นจริงมีเรื่องหลายเรื่องเกี่ยวกับสถาบันฯ ที่ควรจะได้รับการถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเปิดเผยผ่านสื่อ เช่น เรื่องอนาคตของราชวงศ์, บทบาทของสถาบันฯ กับการเมืองอย่างเช่นท่าทีของสถาบันฯ ต่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549, การสั่งห้ามขายหนังสือเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันฯ ทั้งที่เขียนโดยคนไทยและต่างชาติในประเทศ หรือในมหาวิทยาลัยบางแห่ง, บทบาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ผลที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ปั่นพองหลักๆ มี 3 ประการ ได้แก่

1. การสร้างกระแส
ปรากฏการณ์ ปั่นพองนำไปสู่การขยายตัวของโมเมนตัมในการผลิตข่าวด้านบวกและเทิดทูนอย่าง เดียว และช่วยผลักดัน สร้างกระแส เช่น กระแสใส่เสื้อเหลืองและเสื้อดำ เพื่อให้ประชาชนพลเมืองปฏิบัติตามความคิดหมู่ (herd mentality) เวลา ที่สื่อเสนอข่าวเรื่องประชาชนใส่เสื้อเหลืองหรือเสื้อดำเป็นกระแส สื่อไม่เคยพยายามวิเคราะห์ว่ามีกี่กลุ่มและแต่ละกลุ่มใส่เสื้อด้วยเหตุผลที่ แตกต่างกันอย่างไร อาทิเช่น ใส่เพราะที่ทำงานขอให้ใส่ ใส่เพราะได้เสื้อเหลืองมาฟรี ใส่เพราะจงรักภักดี หรือใส่เพราะแรงกดดันจากเพื่อนฝูงหรือสังคมรอบข้าง ดูเหมือนสื่อจะบอกว่าทุกคนใส่เพราะจงรักภักดี เรื่องนี้ไม่เพียงบิดเบือนภาพความเป็นจริง แต่ยังช่วยสร้างความเป็นจริงใหม่ขึ้นมาเหมือนกับการทำโพลที่ผลโพลนั้นไม่ เพียงแต่พยายามอธิบายความเป็นจริง (ส่วนอธิบายได้ จริงหรือเปล่าและคลาดเคลื่อนแค่ไหนก็อีกเรื่อง) แต่มันมีส่วนตอกย้ำความเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างคือความเป็นจริง หมายความว่า ผลโพลนั้นอาจคลาดเคลื่อน แต่ผลของโพลมีอิทธิพลในการผลักดันให้คนเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง

ใน แง่นี้แล้วการที่สื่อเสนอว่าทุกคนจงรักภักดี ปลาบปลื้มกับสถาบันฯ ย่อมมิเพียงแต่เป็นการเหมารวมโดยการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงที่ว่ามีผู้คน อีกกลุ่มหนึ่งที่มองสถาบันฯ อย่างวิพากษ์ แต่ยังทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า สิ่งที่สื่อเสนอน่าจะเป็นความเป็นจริง และเกิดการโน้มน้าวความคิดของคนจำนวนหนึ่งไปในทางนั้น

สี่วันหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ใน ช่วงข่าวกลางวันยังคงเรียกร้องให้ประชาชนหันมาใส่ชุดดำส่วนเสื้อเหลืองนั้น เมื่อไม่ถึงสิบปีที่แล้วแทบจะไม่มีความหมายอะไรเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อ กษัตริย์ แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปและสื่อก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ ณ ปัจจุบันสถานการณ์ได้ไปถึงจุดที่เหมือนเครื่องบินที่บินติดลมบนแล้ว และใครก็ตามที่ใส่เสื้อเหลืองทุกวันนี้ก็ถูกตีความว่าเป็นพวกรักสถาบันฯ ไปโดยปริยาย

2. การคงไว้ซึ่งวาทกรรมหลัก
ปรากฏการณ์ปั่นพองได้ช่วยคงไว้ซึ่งวาทกรรมหลัก เช่น กษัตริย์เปรียบเหมือนบิดาของคนทั้งชาติ เป็น “พ่อหลวง” ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประชาชน ในขณะที่คนไทย “ทุกคน” เทิดทูนบูชาพระเจ้าอยู่หัว
วาท กรรมเหล่านี้คงอยู่ไม่ได้หากวาทกรรมรองหรือความเห็นต่างถูกนำเสนอควบคู่กัน ไปผ่านสื่อกระแสหลัก เพราะจะก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับวาทกรรมหลักในคนหมู่กว้างและเกิดการ แข่งขันกันระหว่างวาทกรรมหลักและวาทกรรมรองหรือวาทกรรมใต้ดิน

การ ทำให้สื่อกระแสหลักแทบจะไร้ซึ่งเนื้อหาเชิงวิพากษ์หรือเท่าทันต่อสถาบัน กษัตริย์มีความสำคัญยิ่งยวด เพราะคนส่วนใหญ่รู้จักสถาบันฯ ผ่านสื่อ หาใช่ผ่านประสบการณ์ตรงไม่

ผู้เขียนได้ลองสุ่มถามประชาชน 3 คน ที่ไปถวายความเคารพพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่โรงพยาบาลศิริราชในเช้าวันแรกหลังสิ้นพระชนม์ พบว่าทั้งสามมิเคยได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มาก่อนในชีวิต แต่รู้สึกว่าพระองค์เป็นคนดีเพราะได้เห็น ได้ยิน ได้อ่านเรื่องราวของพระองค์ผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์

ใน ทางกลับกัน ผู้สื่อข่าวที่ทำงานกับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่งกล่าวว่า การเสนอข่าวที่มีแต่ด้านบวกด้านเดียวของสื่อทำให้เธอสงสัยว่า ความเป็นจริงเป็นอย่างไร เธอยังได้กล่าวต่อไปว่า สื่อมิได้เอื้อให้เธอคิดเชิงวิพากษ์หรือเท่าทันต่อสถาบันฯ และเวลาสื่อเสนอข่าวการเมืองก็มักพูดถึงบทบาทนักการเมืองที่ฉ้อฉล อย่างไรก็ตามหลังจากที่นักข่าวผู้นี้ได้มีโอกาสมาทำข่าวเกี่ยวกับแรงงาน เธอก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับชนชั้นและบทบาทของสถาบันกษัตริย์

“ทำ เรื่องแรงงานด้วย ทำให้เห็นความแตกต่างของชนชั้น และเป็นช่วงที่มีสถานการณ์การเมือง พอดีช่วงสนธิ ลิ้มทองกุล ไล่ทักษิณ เมื่อก่อนอาจจะสนใจแต่ไม่เคยตั้งคำถามกับข้างบน [สื่อกระแสหลักมีบทบาท] มันก็เสนอเกี่ยวกับความขัดแย้งของพรรคการเมือง นักการเมือง คือมันไม่มีคำถามไปถึง [สถาบันกษัตริย์] รู้สึกสนใจบ้าง แต่ไม่สามารถโยงได้ ทุกอย่างมันก็คลุมเครือ ก็เพราะเป็นอย่างนี้” เขา กล่าวพร้อมทั้งบอกว่าไม่ขอเอ่ยชื่อ เนื่องจากเกรงกลัวว่าครอบครัวจะตำหนิว่ากล่าว เพราะพ่อแม่เคยสั่งไม่ให้พูดอะไรเชิงวิพากษ์ต่อสถาบันกษัตริย์

3. การปิดบัง ทำให้เลือน และเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงอันสลับซับซ้อน

มัน เป็นการยากที่จะเข้าถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับความรู้สึกที่แท้จริงของ ประชาชนแต่ละคนแต่ละกลุ่มในประเทศนี้ต่อสถาบันกษัตริย์ เพราะสื่อนั้นเสนอเรื่องราวไปด้านเดียว มิติเดียว

ความ เป็นจริงที่พอจะสรุปได้ก็คือ ไม่มีใครทราบว่าประชาชนไทยกี่เปอร์เซ็นต์เป็นประเภทที่นับถือบูชาเจ้าอย่าง สุดโต่ง กี่เปอร์เซ็นต์ที่เคารพพอประมาณอย่างพอดีๆ ไม่ทราบว่ากี่เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกเฉยๆ กี่เปอร์เซ็นต์ที่มองสถาบันฯ อย่างวิพากษ์วิจารณ์ เท่าทัน และกี่เปอร์เซ็นต์ที่ต่อต้านสถาบันฯ และต้องการเห็นสาธารณรัฐ แต่ที่แน่ๆ คนหลากหลายประเภทนี้มีจริง จากการพบเห็นพูดคุยเป็นการส่วนตัว

ใน สังคมที่ชอบทำโพลเป็นประจำทุกอาทิตย์ (โดยเอแบคโพล สวนดุสิตโพล ฯลฯ) กลับไม่มีโพลสำนักไหนกล้าทำโพลในเรื่องนี้ เพราะสุดท้ายแล้วมันคงถูกทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย หมิ่นต่อสถาบันกษัตริย์ ประชาชนคงอยู่กับภาพดีด้านเดียวมิติเดียวที่ถูกนำเสนอโดยสื่อซึ่งตอกย้ำวาท กรรมหลักว่า “ทุกคน” นับถือเทิดทูน และรักในหลวง

แม้แต่หนังสือเชิงพาณิชย์แจกฟรีอย่างนิตยสาร VIVA BANGKOK (กุมภาพันธ์ 2551) ซึ่งผลิตเพื่อโปรโมตสินค้าของห้างเอ็มโพเรียมกับสยามพารากอน ในหน้า 39 ของนิตยสารฉบับนี้ มีข้อความตอนหนึ่งของปุณยวีย์ สุขสกุลวรเศรษฐ์ (หรืออรปรียา หุ่นศาสตร์) ผู้ประกาศข่าวชื่อดังรายการ “สามสิบยังแจ๋ว” เขียนว่า: “ความเป็นหนึ่งเดียวของคนไทยคือทุกคนรักพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีใครบังคับให้รักจนทำให้ต่างประเทศอดทึ่งไม่ได้”

การ แสดงความเห็นเช่นนี้ทำได้ง่ายๆ เพราะสื่อกระแสหลักไม่มีที่สำหรับความเห็นต่างหรือความเห็นแย้ง และทำให้วาทกรรมหลักดูน่าเชื่อถือเพราะไม่มีที่ให้คู่แข่ง [12]

การสวมเสื้อเหลืองหรือเสื้อดำไว้ทุกข์ก็เช่นกัน เรามิอาจทราบได้ว่าผู้คนกี่เปอร์เซ็นต์ที่สวมใส่เพราะมันได้กลายเป็นชุดที่ “เหมาะสม” สำหรับ ใส่ไปทำงาน โดยได้รับการขอความร่วมมือจากนายจ้าง หรือกระทรวง กรมกอง หรืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ใส่เพราะได้เสื้อเหลืองมาฟรี หรือใส่เพราะแรงกดดันจากกระแสสังคม คนรอบข้าง และเหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ใส่เพราะนับถือบูชาหรือโศกเศร้าจริงการใส่เสื้อ เหลืองในฐานะกลยุทธ์เพื่อทำให้ดูเป็น “คนดี” ถูก นำมาใช้ โดยมีผู้ประกอบอาชญากรรมบางคนที่ถูกจับได้คาเสื้อเหลืองและแรงกดดันจากสังคม รอบข้างเป็นเรื่องไม่ควรมองข้าม ผู้เขียนบทความทราบมาว่า ในวันที่ 3 มกราคม 2551 นักข่าวผู้หญิงคนหนึ่งใส่เสื้อสีชมพูขึ้นรถเมล์ ได้ยินกระเป๋ารถเมล์พูดกับคนขับรถเชิงถากถางว่า “เป็นคนไทยหรือฝรั่ง”

สื่อ อาจจะเหมารวมว่าคนที่ใส่เสื้อเหลืองหรือเสื้อดำจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ซึ่งมิได้ให้ความจริงลึกซึ้งไปกว่านั้น และการรายงานข่าวด้านเดียวของสื่อก็เช่นกัน มันมิได้สะท้อนถึงความหลากหลายของคนในสื่อว่าคิดหรือรู้สึกอย่างไรกับ สถาบันฯ


3. ปฏิกิริยาโต้กลับ
ปรากฏการณ์ หรือสภาวะปั่นพองนั้นทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้กลับ เพราะคนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองถูกเหมารวมโดยสื่อกระแสหลักอย่างคลาด เคลื่อนไปจากความเป็นจริง

การที่สื่อเสนอข่าวด้านบวกเพียงด้านเดียวยกเว้นบททัศนะนานๆ ครั้งของนักวิชาการและคอลัมนิสต์ไม่กี่คน [13] ที่ หลุดลอดออกสู่สื่อกระแสหลักอย่างเช่นธงชัย วินิจจะกูล ทำให้คนจำนวนหนึ่งมิพอใจและพิสูจน์ว่าผู้รับสารมิได้เห็นคล้อยไปกับการเสนอ ข่าวด้านเดียวมิติเดียวเสมอไป

เว็บ ไซต์ เว็บบล็อกบางแห่งได้กลายเป็นโลกคู่ขนานที่เต็มไปด้วยความเห็นเชิงวิพากษ์ วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งเกลียดชังสถาบันฯ และผู้คนเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะรู้สึกแปลกแยกจากการนำเสนอภาพบวกด้านเดียว มิติเดียว แบบเหมารวมของสื่อกระแสหลักที่มักจะชอบคุยโอ้อวดถึงยุคโลกข้อมูลข่าวสารที่ ความเห็นหลากหลายกระจายไปได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

โลกคู่ขนานในอินเทอร์เน็ตน่าจะกลายเป็นเป้าการเซ็นเซอร์ หรือปราบปรามของรัฐซึ่งมีลักษณะวิตกจริต และรู้สึกไม่มั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ (ความ กลัวของผู้เขียนว่าเว็บไซต์เหล่านั้นจะถูกปราบก็เป็นจริงเมื่อเว็บไซต์ของ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกปิดหลังจากเขียนบทความนี้ไม่นาน) และอย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นมีการปราบปรามจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสองคนใน นามปากกา “ท่อนจัน” กับ “พระยาพิชัย” และไม่เป็นข่าว
แต่ เรื่องนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ลอยในมหาสมุทร และอาจมีกรณีอื่นอีกที่สื่อไม่เสนอและสาธารณชนไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ความเห็นเชิงปฏิกิริยาโต้กลับนั้นมีจำนวนไม่น้อย เช่น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 มีการตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันว่า “ถามจริงๆ เถอะครับ ทำไม (บาง) คนในบอร์ดนี้ถึงต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์” [14]

คำตอบลำดับที่ 5 ซึ่งใช้นามปากกาว่า “sympatique MD” กล่าวว่า “ผม เองไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของสถาบันนะครับ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับสถานภาพที่สถาบันนี้เป็นอยู่ในเมืองไทยขณะนี้ ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยเผด็จการปี พ.ศ. 2500 ซึ่งมีการยกย่องเชิดชูเทิดทูนกันแบบสุดๆ และห้ามแตะ… การ วิพากษ์วิจารณ์ได้ และตรวจสอบได้น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากกว่าครับ เกี่ยวกับรายได้และการเสียภาษี เกี่ยวกับงบประมาณของโครงการหลวงต่างๆ นับพันโครงการ”

ผู้ตอบลำดับที่ 16 ใช้ชื่อว่า “ดาวในฟ้า” ตอบว่า “ไม่ได้ต่อต้านแบบคิดล้มล้าง หรืออะไรนะคะ แต่ว่าไม่ชอบการ propaganda แล้วก็อาการของคนบางกลุ่มในสังคมที่ treat สถาบันในแบบที่ค่อนข้างจะโน้มเอียงไปทางงมงายค่ะ

“สถาบัน (ในแง่สถาบัน…คือเรามองว่าควรมองที่ตัวระบบมากกว่าบุคคลนะ) ควรแตะต้องจับต้อง วิพากษ์ วิจารณ์ได้อะค่ะ

“แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ชอบคนที่ออกมาวิพากษ์ หรือ treat บุคคลในราชวงศ์เหมือนไม่ใช่มนุษย์ (ทั้ง treat สูงกว่า และต่ำกว่ามนุษย์)”

หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในวันที่ 2 มกราคม 2551 ก็ มีการถกเถียงแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์ในเว็บบอร์ดเดียวกันนี้ อย่างที่สื่อกระแสหลัก (ทั้งที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ) มิยอมให้พื้นที่

ในกระทู้ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสิ้นพระชนม์แล้ว” [15] มีการแสดงความเห็นเรื่องข่าวสิ้นพระชนม์ และการจัดงาน รวมถึงการรายงานของสื่อ โดยความเห็นที่ 8 ผู้ใช้นามปากกาว่า “มาช้าแต่มาแล้ว” เขียนว่า
“ปล. ผมเฉยๆ ครับ บอกกันตรงๆ ไม่ได้สนิท ไม่ได้รู้จัก ไม่ได้มีความสัมพันธ์ ถ้าจะไม่ไว้อาลัยด้วย ไม่ทราบผิดไหม? ไม่เศร้าครับ”

ความเห็นที่ 5 เขียนว่า

“ใคร เป็นญาติสนิทมิตรสหายก็เศร้าโศกเสียใจกันไป ผมไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่มิตร ไม่สนิท เลยรู้สึกเฉยๆ หน้าไหนอย่าเที่ยวมายัดเยียดความเศร้าให้ก็แล้วกัน วันนี้ยังใส่เสื้อสีสดใสอยู่เลย ถือว่าไม่เกี่ยวข้องกัน”
แต่นั่นมิใช่สิ่งที่สื่อกระแสหลักปฏิบัติ ในทางตรงกันข้าม บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โพสต์ ทูเดย์ วันที่ 3 มกราคม 2551 เขียนว่า “ความรื่นเริงที่ทุกคนได้รับมาในช่วงฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พลันสลายสิ้น แทนที่ด้วยความเสียใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ แม้ คนไทยจะติดตามรับทราบพระอาการประชวรของพระองค์มาเป็นระยะ และได้เตรียมตัวเตรียมใจกับความสูญเสียมาบ้างแล้วก็ตาม หากแต่เมื่อวันนั้นมาถึง

ทุกคนกลับไม่อาจห้ามความเศร้าโศก…” [เน้นโดยผู้เขียน]



ความแปลกแยก
คนไทยอย่างนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง อายุ 26 ปี ซึ่งถือว่าตนเองนั้นเป็นฝ่ายซ้ายและยึดถืออุดมการณ์สาธารณรัฐนิยม มองว่าการเสนอข่าวเรื่องสถาบันกษัตริย์ของสื่อกระแสหลักนั้นเต็มไปด้วย “โฆษณาชวนเชื่อ”

เมื่อถามเขาว่ารู้สึกอย่างไรกับการถูกเหมารวมโดยสื่อว่าเป็นหนึ่งในคนไทยทุกคน “ที่เทิดทูนบูชาสถาบันฯ” โชติศักดิ์กล่าวว่า “ผม ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกอย่างไร คุณเหมารวมเอาชื่อไปใช้โดยไม่ได้สอบถาม ที่บอกว่าคนไทยทุกคนก็ยังพอเข้าใจได้ แต่เคยอ่านว่า มีการเขียนว่าคนทั้งโลกยกย่องด้วยซ้ำไป

“เคยตั้งคำถามว่าที่ว่ามี 63 ล้านคนที่ยกย่อง จริงหรือเปล่า? คน ต่างประเทศหลายคนไม่รู้จักเลยว่าไทยคืออะไร แถมยังสงสัยระหว่างไทยกับไต้หวัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักไทย แล้วจะรู้รักในหลวง จะรักยกย่องในหลวงได้อย่างไร?

“อาจ จะเรียกว่าโกรธหรือโมโห แต่ในด้านหนึ่งก็รู้สึกขำว่าทำไมเชลียร์ได้ขนาดนี้ ถ้าเอาคนที่รู้สึกเฉยๆ รวมกับคนที่แอนตี้สถาบันฯ [เทียบ] กับคนที่รักมากๆ คนสองกลุ่มนี้อาจจะมีจำนวนพอๆ กันก็ได้”

โชติศักดิ์ยังได้ให้ความเห็นต่อไปว่าเขาเชื่อว่าสื่อกระแสหลักได้ปูพรมสาธารณะด้วย “โฆษณาชวนเชื่อ” จน ทำให้คนเชื่อว่าทุกบ้านมีรูปในหลวง ในขณะที่ประสบการณ์ส่วนตัวของเขานั้นพิสูจน์ว่ามีบ้านเรือน อพาร์ตเมนต์จำนวนหนึ่งที่ไม่มีพระบรมฉายาลักษณ์

“ในความจริงก็คือ ไม่ได้มีทุกบ้าน อาจจะเกือบทุกบ้านแต่ไม่ใช่ 99% แน่ๆ อาจจะ 80 หรือ 90 หรืออาจจะน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำไป [แต่การที่สื่อบอกว่ามีทุกบ้าน] มันทำให้เกิดกระแสที่สำคัญคือ คนก็เชื่อทั้งๆ ที่บ้านตัวเองก็ไม่มี

“เรื่องเสื้อเหลืองก็ไม่ใช่ทุกคน และในบรรดาคนที่ใส่ อาจมีครึ่งเดียวที่ใส่เพราะมีอารมณ์ร่วม ส่วนอีกครึ่งอาจจะติดต่อราชการ …หลายๆ คนเพื่อนผม ญาติผม ถูกที่ทำงานบังคับให้ซื้อ มันกดดันบังคับในเชิงกลายๆ สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญมากในการสร้างกระแสนี้

“มัน เหมือนโฆษณาทุกวัน เปิดทุกวันเหมือนเวลาค่ายเพลงทำการตลาด เปิดให้ฟังทุกวัน ฟังๆ ไปก็จะรู้สึกว่ามันเพราะ เพียงแต่กรณีนี้อาจจะมาในรูปสารคดี หรือรูปแบบข่าว ขณะที่สื่อมีพื้นที่มากๆ ให้กับการโปรโมต การ propaganda เรื่องเจ้า สื่อก็ปิดการเสนอข่าวอีกฝ่ายหนึ่ง …แม้แต่ฝ่ายที่ไม่นิยมเจ้าเป็นคดีก็ไม่นำเสนอ

“แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ ซุบซิบนินทา [แต่] ถ้าดูสื่อ เหมือนคนทั้งหมด 63 ล้านคน ไปในทางเดียวกันเป๊ะๆ เลย”

และเรื่องที่โชติศักดิ์เผชิญเองเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ก็ไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลักเกือบทั้งหมด (ยกเว้น The Nation) วัน นั้นโชติศักดิ์ปฏิเสธที่จะยืนตรงทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี จนเกิดมีปากเสียงกระทบกระทั่งกับผู้เข้าชมภาพยนตร์บางคนที่โรงภาพยนตร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า จนโชติศักดิ์ต้องโทรเรียก 191 และถูกข่มขู่โดยผู้ชมภาพยนตร์คนหนึ่งว่าจะฟ้องฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากคนนั้นถูกโชติศักดิ์แจ้งความในข้อหาทำร้ายร่างกาย

เรื่อง นี้ถึงแม้หนังสือพิมพ์ออนไลน์เช่นประชาไทจะทราบ แต่ก็ตัดสินใจไม่เล่นข่าวดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยความหวังดีต่อนายโชติศักดิ์

เรื่อง เดียวกันนี้มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเมื่อมีผู้นำไปโพสต์ลงในเว็บบอร์ ดฟ้าเดียวกัน แต่โชติศักดิ์เชื่อว่าเว็บบอร์ดและเว็บไซต์เหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ที่จำกัด มาก

“มัน เป็นแค่ที่ระบาย ถ้ายังอยู่ในแบบนี้ มันไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะคนส่วนมากก็รับสื่อกระแสหลัก อินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้เข้าถึงอะไรมาก เว็บไซต์มีเป็นร้อยเป็นพัน เป็นที่ให้คนที่มีจุดยืนเดียวกันทั้งหมดมาพูดกัน ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ พื้นที่สื่อมันควรจะเป็นพื้นที่ให้ทั้ง 2 ฝ่าย 2 จุดยืนทางการเมือง หรือหลายจุดยืนการเมืองมาถกเถียง ไม่ใช่เหมือนสื่อปัจจุบัน ที่เลือกข้างหรือถูกทำให้เลือกข้างไปแล้ว” [16]

ไม่มีปลาไหนเล็กเกินกว่าจะนำไปทอด
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันถูกปิด บางกอกบัณฑิต (http://bangkokpundit.blogspot.com) บล็อกเกอร์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการเมืองไทยที่มีผู้อ่านมากที่สุดคนหนึ่งก็เขียนเกี่ยวกับการปิดเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันว่า “จำนวนคนออนไลน์เว็บไซต์ฟ้าเดียวกันขณะถูกปิดมี 150 คน ซึ่งอาจจะรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งให้จับตาดูการถกเถียง”
กลับ มาพูดถึงกรณีนายธนาพล ผู้ก่อตั้งวารสารและเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ผู้เขียนรู้สึกว่าน้ำเสียงนายธนาพลรู้สึกแปลกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ธนาพลคงนึกว่าพวกเขาเปรียบเสมือนปลาตัวเล็กๆ แถมการถกเถียงก็เป็นไปอย่างเปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับทางการ แต่เขาอาจจะคิดผิด คงไม่มีปลาตัวไหนเล็กเกินกว่าจะนำไปทอด หรือมิฉะนั้นปลาตัวนี้ก็ได้เติบโตจนเกินไป และเริ่มสร้างความลำบากใจแก่ผู้มีอำนาจ

ความ สำคัญของการจัดการความเห็นเชิงวิพากษ์และเท่าทันทางอินเทอร์เน็ตอยู่ตรงที่ ว่า ถึงมีจำนวนผู้เข้าถึงเว็บไซต์เหล่านั้นจำกัดก็จริง แต่การปิดเว็บไซต์อย่างนี้อาจช่วยป้องกันมิให้ผู้คนซึ่งไม่รู้จักกันในโลก ความเป็นจริงค้นพบความเป็นจริง (ผ่าน โลกเสมือนจริงของไซเบอร์สเปซ) ว่าแท้จริงแล้วคนที่คิดอย่างเขา คิดอย่างวิพากษ์และเท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์นั้นมีอยู่จริง มีจำนวนมิน้อย และตรงกันข้ามกับที่สื่อกระแสหลักพยายามนำเสนอแบบปูพรมว่า “คนไทยทุกคน” เทิดทูนบูชาสถาบันกษัตริย์

การ แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนของคนเหล่านี้ จะเป็นสิ่งตอกย้ำว่าพวกเขาไม่ได้บ้า หรือมีอยู่เพียงคนเดียว หรือสองคน หรือในหมู่คนที่รู้จักและมันก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าสิ่งที่สื่อกระแสหลัก เสนอนั้นเป็นเพียงด้านเดียวของเหรียญ หรือหนึ่งในหลายมิติของความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนและหลากหลายของคนไทยต่อ สถาบันกษัตริย์

มัน คงช่วยให้คนบางคนตาสว่างและตระหนักว่า ภาพบางอย่างที่สื่อกระแสหลักนำเสนออาจมิได้สะท้อนความเป็นจริงหรือความเชื่อ ของคนบางกลุ่ม และนี่คงเป็นสิ่งที่ทางการและผู้มีอำนาจเป็นห่วงเป็นที่สุด
เพราะฉะนั้นปลาตัวเล็กก็ต้องถูกจัดการนำไปทอด จัดระเบียบ หรือเล่นซ่อนหาเปิดปิดเว็บไซต์แห่งใหม่หนีทางการ


บทส่งท้าย
หลังจากผู้เขียนได้รายงานข่าวการปิดเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ลงหนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2551 ได้ไม่กี่วัน ก็ได้รับโทรศัพท์จากผู้มีอำนาจในกอง บ.ก. ว่า หนังสือพิมพ์ The Nation “ไม่ต้องการ” ข่าวเช่นนี้อีกต่อไป

“ข่าวแบบนี้ไม่เอาอีกแล้วนะ” เสียงสุภาพทางโทรศัพท์บอกย้ำผู้เขียน

มีเพียงหนังสือพิมพ์ The Nation และ Bangkok Post เท่านั้นที่รายงานข่าวอย่างฉับพลัน หลังจากนั้นไม่กี่วัน ไทยรัฐออนไลน์ [17] ก็ ได้ติดตามประเด็นนี้ต่อ โดยอ้างว่าทางการไม่ได้มีส่วนในการปิดเว็บไซต์แต่อย่างใด เว็บไซต์ที่เสี่ยงต่อการจัดระเบียบยังมีอยู่ รวมถึงเว็บไซต์อย่างประชาไท ส่วนผู้เขียนก็คงต้องถูกจัดการ นำไปทอดหรืออบรมเปลี่ยนทัศนคติเช่นเดียวกัน



เชิงอรรถ
[1] ถอดความโดยปรับปรุงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ “Lese Majeste Law and Mainstream Newspapers’ Self-Censorship: The Upward Spiral Effect and its Reaction” เสนอในงานประชุมวิชาการไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 (10th International Conference on Thai Studies) จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 9 มกราคม 2551 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[2] “เชื่อปิด ‘ฟ้าเดียวกัน’ ไม่ใช่แค่เรื่องของเอกชน,” ประชาไท, 8 มกราคม 2551, http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=10799&Key=HilightNews
[3] Thanong Khantong and Wannapa Phetdee, “Crowds hail their King,” The Nation, 5 December 2007, p. A.15.
[4] “ผนึกกำลังทำลายชาติ,” ผู้จัดการออนไลน์, 5 ธันวาคม 2550, http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000144471
[5] “Jailed Swiss man receives pardon from His Majesty,” Bangkok Post, 13 April 2007.
[6] “H.M. pardons Swiss man who defaced his portraits,” The Nation, 13 April 2007, p.A1.
[7] ดูเพิ่มเติม บทความของผู้เขียน “การเซ็นเซอร์ข่าวหมิ่นพระมหากษัตริย์ในสื่อไทย (ข้อสังเกตกรณีคดีฝรั่งสวิส),” ประชาไท, 23 เมษายน 2550, http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=7821&Key=HilightNews
[8] ดูเพิ่มเติมที่ “อาจารย์ ม.ศิลปากรออกข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ,” ประชาไท, 19 กรกฎาคม 2550, http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8899&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
[9] ประวิตร โรจนพฤกษ์, “คำให้การเรื่องสถาบันกษัตริย์กับวัฒนธรรมเซ็นเซอร์,” ฟ้าเดียวกัน, 5: 2 (เมษายน - มิถุนายน, 2550), หน้า 141-146
[10] “ไม่สบายใจแก้ กม. ปกป้อง ‘องคมนตรี’ แจ้ง ‘วิปสนช.’ ลงมติ ‘ถอนเรื่อง’,” มติชนรายวัน, 10 ตุลาคม 2550
[11] “ผนึกกำลังทำลายชาติ,” ผู้จัดการออนไลน์, 5 ธันวาคม 2550 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานประชุมไทยศึกษานานาชาติ ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2551 ว่า :
ประการที่สี่ การจัดสัมมนานานาชาติที่มีไอ้โม่งหนุนหลัง ซึ่งจะจัดขึ้นที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2551 ซึ่ง จะมีรายการแอบแฝงเพื่อบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีการเชิญอดีตนักวิชาการคอมมิวนิสต์บางคนที่พำนักอยู่ในต่างประเทศเข้ามา เป็นวิทยากรในครั้งนี้ด้วย
ประการ ที่ห้า การเตรียมการที่จะให้ฝรั่งคอลัมนิสต์รับจ้างบางคนซึ่งเคยมีบทบาทในการบ่อน ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้ว จัดทำเอกสารเพื่อโจมตีทำลายคณะองคมนตรีในการสัมมนาที่จะมีขึ้นในวันที่ 9-11 มกราคม 2551
[12] ในเดือนสิงหาคม 2550 นิตยสาร Forbes ซึ่งมีชื่อเสียงในการจัดลำดับอันดับทรัพย์สิน รายได้ และความมั่งคั่งของบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ทั่วโลก ได้เผยแพร่บทความ “The Word’s Richest Royals” ซึ่งทำการจัดอันดับกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครรัฐที่รวยที่สุดในโลก โดยในหลวงของไทยติดอันดับที่ 5 แต่สื่อกระแสหลักเกือบทั้งหมดก็ไม่รายงานข่าวดังกล่าว (ยกเว้น กรุงเทพธุรกิจ, 18 กันยายน 2550 และ เดลินิวส์, 27 กันยายน 2550)
นิตยสาร แมรี แคลร์ ฉบับภาษาไทย ประจำเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 หน้า 102-103 รายงานถึงกษัตริย์ 4 อันดับแรก รวมถึงการเม้าท์ถึงความร่ำรวยและคดีอื้อฉาว แต่ตกลำดับที่ 5 ไปอย่างน่าแปลกใจ ทั้งๆ ที่นามปากกาผู้เขียน คือ “คอหนอนใหญ่” น่าจะเป็นคนไทย และหน้าถัดไปของนิตยสารก็มี books review หนังสือชื่อ 365 วัน ฉันรักในหลวง นี่ไม่ใช่แห่งเดียวที่เป็นแบบนี้ ใน มติชนสุดสัปดาห์, 7-13 กันยายน 2550 บทความ “กษัตริย์ที่มั่งคั่งที่สุดในโลกคือใคร?!” ก็กล่าวข้ามกษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลกเป็นลำดับที่ 5 ไปเช่นกัน ทั้งๆ ที่ไม่มีการเซ็นเซอร์หรือขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวแต่อย่างใด
ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน กานต์ ยืนยง, “รายงานการจัดอันดับความมั่งคั่งของราชวงศ์ทั่วโลก,” ฟ้าเดียวกัน, 5: 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2550), หน้า 203-213
[13] หลังจากการประชุมไทยศึกษานานาชาติเดือนมกราคมสิ้นสุดลงไม่นาน คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ชื่อ สนิทสุดา เอกชัย ก็ได้เขียนว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sanitsuda Ekacha, “‘Porpiang’ is all about handling one’s greed,” Bangkok Post, 17 January 2008, p. 9) หลัง จากนั้นมีผู้อ่านเขียนมาชมสนิทสุดาว่า ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่และก้าวหน้าที่เธอเขียนข้อความเชิงวิพากษ์ต่อความคิด บางอย่างของกษัตริย์ (จดหมายของ Dom Dunn จากเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ชื่อหัวจดหมาย “Exciting journalism,” Bangkok Post, 19 January 2008, p.9)
ผู้ เขียนคิดว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าสื่อส่วนใหญ่ไม่ได้พยายามใช้พื้นที่เสนอข่าวอย่าง เท่าทัน แต่ในขณะเดียวกัน ควรกล่าวไว้ด้วยว่า สนิทสุดาเองก็ได้เคยเขียนชื่นชม สนับสนุนส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปีก่อน หน้านี้
หันมาดูคอลัมนิสต์อีกคนของหนังสือพิมพ์ The Nation คือ นายกวี จงกิจถาวร ก็ได้เขียนบทความหลังการประชุมไทยศึกษานานาชาติ และเอ่ยว่าเว็บไซต์ฟ้าเดียวกันถูกปิด แต่ก็มิได้ (หรือไม่กล้า?) อธิบายแก่ผู้อ่านว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เว็บไซต์นี้ถูกปิด (Kavi Chongkittavorn, “A dramatic royal transformation happening in Asia,” The Nation, 14 January 2008, p. A8) กรณีนี้สะท้อนถึงความเป็นจริงที่ถูกตัดตอนเหมือนกับตอนที่สื่อไทยนำเสนอข่าวเรื่องเว็บไซต์ยูทูบ www.youtube.com ถูก ปิด เพราะมีคลิปวิดีโอหมิ่นสถาบันฯ โดยที่ไม่มีสื่อไหนรายงานว่า คลิปวิดีโอบางชิ้นนั้นเอ่ยถึงความไม่พอใจที่นายยูเฟอร์ถูกจับและอาจต้องโทษ อย่างรุนแรงจึงได้ทำวิดีโอคลิปขึ้นมาประณามสภาพกฎหมายบ้านเมืองไทย
[14] กระทู้ “ถามจริงๆ เถอะครับ ทำไม (บาง) คนในบอร์ดนี้ถึงต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์,” 30 พฤศจิกายน 2550, http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=4303&hl=
[15] กระทู้ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสิ้นพระชนม์แล้ว,” 2 มกราคม 2551, http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=4825
[16] โฮวาร์ด ซินน์ (Howard Zinn) นักประวัติศาสตร์อเมริกันนามอุโฆษเคยถูกตั้งคำถามว่า “ในฐานะครู ควรจะส่งเสริมให้นักศึกษากระตือรือร้นตั้งคำถามและมองเชิงวิพากษ์โดยไม่ตกหลุมพรางของการมองโลกในแง่ร้ายได้อย่างไร” ซินน์ตอบว่า “การ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เป็นคุณสมบัติสำคัญอันหนึ่งที่นักศึกษาพึงเรียนรู้ ผมคิดว่ามันเกิดจากการที่นักศึกษาตระหนักว่าสิ่งที่เขาเคยเห็นว่า ศักดิ์สิทธิ์มิได้ศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่เขาเคยเทิดทูนอาจมิได้น่าที่จะเทิดทูน วีรกรรมอย่างโรแมนติกและอุดมคติที่ถูกเสนอโดยรัฐสมควรที่จะถูกตรวจสอบและ พิจารณาวิพากษ์อย่างเท่าทัน การกระทำของรัฐในสังคมที่คุณอาศัยอยู่ ความคิดที่คุณเชื่อว่าเป็นของบุคคลนักคิดสำคัญมีข้อบกพร่องและจำเป็นต้องมอง ให้เห็นจุดบกพร่องเหล่านั้น” ดู Howard Zinn, Original Zinn: Conversations on History and Politics (New York : Harper Collins, 2006).
[17] ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์, “ทุกฝ่ายแบข้อมูลเบื้องหลังปิดเว็บไซต์ วารสาร ‘ฟ้าเดียวกัน’,” 11 มกราคม 2551, http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03a&content=74818

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น