เกษียร-วสันต์-สมชาย อภิปราย ‘คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’
หลังจากเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2548 จวบจน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำต้องเว้นวรรคทางการเมือง แต่กระนั้นพัฒนาของความขัดแย้งยังไม่ยุติ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลายเป็นคดีสำคัญที่ทุกฝ่ายนำมากล่าวหาซึ่งกันและกัน มีการกล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขณะที่ก็ตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามด้วยการฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล, บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน และอาจารย์ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ในกรณีเดียวกัน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน องค์กรความโปร่งใสแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดการอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2549
‘ประชาไท’ ได้เรียบเรียงและตัดตอนข้อคิดที่น่าสนใจของผู้เข้าร่วมอภิปราย มานำเสนอ ณ ที่นี้
0 0 0
เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประชาชนควรอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความไว้วางใจ ไม่ใช่ความกลัว
สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ไม่มีอะไรใหม่ หากแต่ยืมมาจากทัศนะและงานวิชาการที่ผู้อื่นเคยคิดเคยเขียน แล้วเอามาเรียบเรียงสังเคราะห์เพื่อใช้มองปัญหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่สำคัญได้แก่ งานของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง ‘ในพระปรมาภิไธยและพระบรมราชโองการ’ ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อ 30 ธันวาคม 2548, งานของคุณปิยะบุตร แสงกนกกุล เรื่อง ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาวุธทรงพลังในหมู่ลูกแกะ’ จากเว็บไซด์ Open และชิ้นที่สามเป็นวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของคุณชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เรื่อง ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสถาปนาพระราชอำนาจนำ’
ขอเริ่มต้นด้วยการอ้างคำกล่าวของคุณสุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปาฐกถาหัวข้อ ‘จริยธรรมกับการบริหารแผ่นดิน’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2549 มีความตอนหนึ่งอ้างถึงรับสั่งของในหลวงว่า “ท่านได้ทรงรับสั่งว่าประมุขของประเทศตามปกติจะนั่งอยู่ยอดปิระมิด แต่เมืองไทยเราจะเป็นลักษณะปิระมิดหัวกลับ ฉันอยู่ก้นกรวย ใครมีอะไรก็เทใส่ฉัน ท่านทรงรับสั่งแบบนี้”
ผมคิดว่าเงื่อนปมสำคัญ 3 ปมเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต้องคลี่คลายให้กระจ่างจึงจะเห็นปัญหาและทางออก ได้แก่ 1.คตินิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ที่แพร่หลายในหมู่สาธารณชน 2. กิจกรรมสาธารณะที่ดำเนินรอยตามพระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 3. สภาพที่พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันทรงไว้ซึ่งพลังอำนาจนำต่อรัฐและสังคมไทย ขณะที่สถาบันกษัตริย์มิได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ภายใต้การปกครองในระบอบปัจจุบัน
ผมอยากขอคลี่คลายเงื่อนปมทั้ง 3 ผ่านการพิจารณาฐานะ บทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองการปกครองปัจจุบันใน 3 มิติ คือ หนึ่ง ในฐานะตัวแทนของอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย สอง ในฐานะประมุขของรัฐที่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป และสาม ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชอำนาจนำ
พระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแทนของอำนาจอธิปไตย เราไม่ได้ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์(Absolute Monarchy) หากแต่เราปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า Limited Monarchy หรือระบอบราชาธิปไตยที่อำนาจถูกจำกัด หมายความว่า ในระบอบนี้สถาบันกษัตริย์มิได้มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolute Power)เหมือนที่เคยมีในระบบเก่า
การไม่มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์หมายความว่า ไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์สมบูรณ์เหนือชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนพลเมือง ไม่ได้เป็นเจ้าของรัฐโดยสิทธิ์ขาด ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยสิทธิ์ขาด ไม่อาจสั่งหรือควบคุมกำกับของรัฐ กองทัพ งบประมาณแผ่นดินได้ดังประสงค์ และไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ในระบอบปัจจุบัน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) เพราะถือว่าแต่ละบุคคลมีกรรมสิทธิ์เหนือชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของตนโดยสมบูรณ์ (Self-Ownership) เป็นพื้นก่อนจึงมาตกลงร่วมกันเป็นสังคมและการก่อตั้งรัฐขึ้น (Social Contract) อีกทีหนึ่ง ฐานที่แท้จริงของ Sovereignty จึงได้แก่หลัก Self-Ownership ซึ่งคือการจำกัดลิดรอนสิทธิเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของบุคคล พลเมือง กระทำได้โดยการสมยอม โดยแสดงผ่านสัญญาประชาคมว่า ต่อแต่นี้ไป พวกเราทั้งหลายจะยอมทำตามการปกครองโดยมติเสียงข้างมาก แต่ไม่ทั้งหมด ไม่เบ็ดเสร็จ ต้องมีขอบเขตขีดเส้นจำกัดให้แก่สิทธิของบุคคลและเสียงข้างน้อยด้วย
เราอาจซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับ Self-Ownership ได้ง่ายๆ โดยลองถามตัวเองว่า ชีวิตคุณเป็นของใคร เป็นของพระมหากษัตริย์ ของรัฐ หรือของตัวคุณเอง ถ้าตอบว่า เป็นของพระมหากษัตริย์ นั่นคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ถ้าตอบว่าของรัฐ นั่นคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolutism) ถ้าตอบว่าเป็นของตัวเอง นั่นคือระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ที่ถือหลักนิติรัฐ (The Rule of Law) ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutionalism)
ในระบอบปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบัน จึงไม่ได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกต่อไป หากเป็นเพียงตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของปวงชน หรือผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน โดยทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนทางการบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี ทางนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา ทางตุลาการผ่านศาลยุติธรรม และการใช้อำนาจอธิปไตยเหล่านี้ พระองค์มิได้และไม่สามารถทรงใช้เองโดยลำพังพระองค์ หากต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ ทำหน้าที่ยื่นเสนอให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธยและต้องรับผิดชอบต่อผลของการใช้อำนาจอธิปไตยนั้นๆ เอง
ปัญหาที่เกิดจากคตินิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolutist Mentality) ที่ตกค้าง ติดค้างในระบอบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ซึ่งมองว่า พระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบัน เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ฉะนั้นการวิจารณ์พระบรมราชโองการ หรือวิจารณ์การใช้อำนาจอธิปไตยในพระปรมาภิไธยจะทำมิได้ เพราะนั่นเท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทั้งที่หากมองจากมุมระบอบรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การวิจารณ์การใช้อำนาจอธิปไตยจึงย่อมพึงทำได้ เพราะคำวิจารณ์นั้นมิได้มุ่งต่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตย หากตกอยู่กับผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งเป็นตัวการเสนอให้ใช้อำนาจอธิปไตยเช่นนั้น และต้องรับผิดชอบต่อผลของการใช้อำนาจดังกล่าวก่อนอื่นใด คือรับผิดชอบต่อปวงชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั่นเอง
แต่การอ้างผิดตามคตินิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ มีส่วนช่วยเอออวยประโยชน์แก่ผู้ใช้อำนาจนั้นๆ ด้วย คือการฉวยอ้างเอาพระบารมี และพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเกราะกำบังมิให้ใครวิจารณ์การใช้อำนาจของตน เมื่อใช้อำนาจรัฐไปดำเนินการใดๆ แล้ว บกพร่องผิดพลาด มีปัญหา ก็กลบเกลื่อนอ้างเป็น ‘ผลงาน’ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายให้พระองค์ทรงรับไว้ โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบ ดังที่อ้างไปข้างต้นว่า “ฉันอยู่ก้นกรวย ใครจะทำอะไรก็เทใส่ฉัน” และยังเปิดช่องให้ใช้อำนาจรัฐบาลในมือตนได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด กลายเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ทางปฏิบัติหรือ Virtually Absolutist Government มิใช่ Limited Government อีกต่อไป
โดยสรุป พระมหากษัตริย์ในฐานะ “ตัวแทนของอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย” จึงไม่เป็นประเด็นปัญหาแก่เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่อย่างใด เพราะการใช้อำนาจอธิปไตยที่เกิดขึ้นมุ่งต่อตัวผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่างหาก
มิติที่สอง คือพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ (Head of State) หรืออีกนัยหนึ่ง ทรงเป็นบุคคลาธิษฐานของความเป็นรัฐ (Personfication of Statehood) ในสถานะนี้ กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันประมุขของรัฐเป็นพิเศษเหนือบุคคลทั่วไป กล่าวคือ แม้ว่าโดยเนื้อหานิยามความหมายมาตรา 112 (การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) ของประมวลกฎหมายอาญา จะถือหลักเดียวกับมาตรา 326 (การหมิ่นประมาทบุคคล) แต่ก็จัดอยู่ต่างประเภทกัน อันส่งผลสืบเนื่องสำคัญที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองสถาบันประมุขของรัฐเป็นพิเศษเหนือบุคคลทั่วไป 3 ประการคือ
1. ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดอันเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แต่หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาไม่เกี่ยว 2.การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โทษหนักกว่าการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และ 3.การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่อาจนำมาตรา 329 (เจตนาสุจริต ไม่ต้องรับโทษ) และ มาตรา 330 (พิสูจน์ได้ว่าจริง ไม่ต้องรับโทษ) ของประมวลกฎหมายอาญามาอ้างเป็นเหตุให้กระทำการได้ดังกรณีการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
ขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ เป็นความจำเป็นที่กฎหมายในทุกประเทศต้องมีไว้เพื่อเป็นการคุ้มครองสถาบัน แต่หากไปมองเรื่องนี้ด้วยคตินิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ ก็จะตีความขยายกว้างออกไปจนไม่สมเหตุสมผล จากมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์เป็นพิเศษในฐานะพระองค์เป็นประมุขของรัฐ เป็นบุคลาธิษฐานของความเป็นรัฐ กลายเป็นทุกสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งหวงห้าม เหมือนดังพระองค์คือรัฐเอง อันเป็นคติแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น เห็นว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ควรเข้าไปตรวจสอบบัญชีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพราะจะเป็นการ ‘หมิ่นพระบรมชานุภาพ’ เป็นต้น
เพื่อผ่อนเบาแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องบุคคลว่า หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างพร่ำเพรื่อ คุณปิยบุตรเสนอให้ควรมีขั้นตอนให้เจ้าหน้าที่สอบถามไปยังสำนักพระราชวัง เห็นว่าควรจะให้ฟ้องร้องหรือไม่เสียก่อน และ กำหนดให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแจ้งความหรือฟ้องคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
มิติที่สาม พระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ทรงพระราชอำนาจนำ ดังจะเห็นจากพระราชดำริริเริ่ม พระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะ พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันได้ทรงวางแบบอย่างบทบาทของพระมหากษัตริย์ภาย ใต้ระบอบรัฐธรรมนูญที่มิได้จำกัดเฉพาะการเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของปวงชน และความเป็นประมุขของรัฐเท่านั้น หากเป็นบทบาทกิจกรรมสาธารณะที่ผลักดันส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม แก้ไขปัญหาความยากจนและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรโดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบทอัน ทุรกันดาร และรักษาความมั่นคงของประเทศชาติจากอริราชศัตรู ดังเห็นเป็นรูปธรรมได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการซึ่งทรงดำเนินการมากว่า 50 ปี นับแต่ พ.ศ.2494 ถึงปัจจุบัน ในการนี้มีบุคคลทั้งฝ่ายราชการ เอกชนและชาวบ้านที่ถวายงานด้วยความจงรักภักดีเป็นเครือข่ายโครงการพระราช ดำริต่างๆ ทั่วประเทศหลายพันคน ผลของสถานะบทบาทดังกล่าวที่พระองค์ทรงริเริ่มและผลักดันด้วยพระองค์เอง มิใช่ในฐานะตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของปวงชน และก็มิใช่ในฐานะประมุขของรัฐโดยตรง ทำให้พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจนำ Royal Hegemony เป็นที่รักใคร่ พึ่งพิงและฝากความหวังของพสกนิกรเสมอ เสมือนหนึ่งเสาหลักของความเป็นชาติและความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง และธรรมราชา ผู้ทรงจรรโลงศีลธรรมจริยธรรมในกิจการส่วนรวม
พื้นที่ กิจกรรมภายใต้พระราชอำนาจนำแห่งราชาชาตินิยม กษัตริย์ประชาธิปไตยและธรรมราชานี้เป็นพื้นที่สาธารณะเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับ ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรหลายล้านคน และความมั่นคงเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองในความหมายนี้ จึงนับเป็นมิติที่ต่างไปจากสถานะบทบาทตัวแทนของอำนาจอธิปไตย และสถานะบทบาทประมุขของรัฐ ที่กล่าวมาแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการดังกรณีแรก และโดยเนื้อหานิยามความหมายก็มิใช่สิ่งที่การคุ้มครองเป็นพิเศษต่อพื้นที่ กิจกรรมภายใต้พระราชอำนาจนำ ย่อมตัดโอกาสการระดมความคิดความเห็นเพื่อให้พสกนิกรช่วยกันหาทางปรับปรุง แก้ไขโครงการและกิจกรรมอันส่งผลสำคัญต่อตัวเองและส่วนรวมให้ดีขึ้น
กิจกรรมโครงการอันเกี่ยวเนื่องกับสถานะบทบาทผู้ทรงพระราชอำนาจนำ จะพึงพิจารณาโยงกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างไร ผมคิดว่าควรยึดตามแนวทางพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548 ที่ว่า “ในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระเจ้าอยู่หัวฯ ผิดไม่ได้ เขาพูดอย่างนั้น THE KING can do no wrong เหมือนท่าน องคมนตรีชอบพูดว่า กษัตริย์ผิด แต่เวลาบอก THE KING บอกว่า THE KING can do no wrong ก็เป็นสิ่งที่ wrong แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ผิดแล้ว ไม่ควรพูดอย่างนั้น…
“ความจริง THE KING can do no wrong คือการดูถูก THE KING อย่างมาก เพราะว่า THE KING ทำไม can do no wrong ไม่ได้ do wrong แสดงให้เห็นว่า เดอะคิงไม่ใช่คน แต่เดอะคิงทำ wrong ได้ สำคัญที่สุด...
“แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์ แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอยู่ในสมองว่าพระเจ้าอยู่หัวพูดชอบกล พูดประหลาดๆ ถ้าขอเปิดเผยว่าวิจารณ์ตัวเองได้ว่าบางทีก็อาจจะผิด แต่ให้รู้ว่าผิด ถ้าเขาบอกว่าวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวว่าผิด งั้นขอทราบว่าผิดตรงไหน ถ้าไม่ทราบ เดือดร้อน
“ฉะนั้นก็ที่บอกว่าการวิจารณ์เรียกว่าละเมิดพระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิดเขาก็ถูกประชาชนบอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูกไม่ว่า แต่ถ้าเขาวิจารณ์ผิดไม่ดี แต่เมื่อบอกว่าไม่ให้วิจารณ์ ไม่ให้ละเมิดไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ก็ลงท้ายก็เลยพระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก…
“คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายก็สอนนายกฯ ว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ ก็สอนนายกฯ ว่าใครบอกว่าให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกฯ เดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน อาจจะอยากให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อนไหมล่ะ ไม่รู้นะ เขาทำผิด เขาด่าพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อน และเดือดร้อนจริงๆ เพราะใครมาด่าเรา ชอบไหม ไม่ชอบ แต่ถ้านายกฯ เกิดให้ลงโทษ แย่เลย แล้วนักกฎหมายต่างๆ ก็จะให้ลงโทษคนที่ด่าพระมหากษัตริย์...”
(อ้างจาก ‘อัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ 4 ธ.ค. 2548’ เว็บไซต์สำนักข่าวประชาไท 31 มีนาคม พ.ศ.2549)
ก่อนจบ ผมขอยืนยันว่า ประชาชนควรอยู่ในระบอบประชิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยความไว้วางใจไม่ใช่ความกลัว
0 0 0
วสันต์ พานิช
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ก่อนหน้าที่ผมจะมาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประกอบอาชีพทนายความมาเป็นเวลา 30 กว่าปี จึงคุ้นเคยกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นคดีการเมืองประเภทหนึ่ง ตั้งแต่อดีตก็มีการใช้ข้อหานี้ในการเป็นเครื่องมือกำจัดบุคคลที่ขัดผลประโยชน์หรือทางตรงกันข้าม
ในคดีแรกที่ผมทำช่วง คือคดีที่คนหนึ่งอยู่ในป่าแล้วเผาแทรกเตอร์ของทางราชการ แต่แล้วก็ออกมามอบตัว ช่วงที่ติดคุกก็มีการเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ มีการคอรัปชั่น และเบียดเบียนค่าอาหาร ในที่สุดก็ทำเรื่องร้องเรียน จากนั้นเรือนจำก็บีบบังคับให้นักโทษถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ใช้กฎอัยการศึก จึงขึ้นศาลทหาร ในที่สุดก็ติดคุกในข้อหานี้
คดีต่อมาคือคดี 6 ตุลา เกิดจากการต่อต้านจอมพลถนอม และจอมพลประภาส เมื่อจอมพลถนอมเข้ามามีการแขวนคอช่างไฟฟ้าที่นครปฐม นักศึกษาธรรมศาสตร์จึงเรียกร้องให้หยุดสอบวิชาภาษาไทย แล้วจัดการแสดงละครที่ลานโพ สัญลักษณ์คือจอมพลถนอมแต่งจีวรสีแดงถือปืนเข้ามา มีนักศึกษานอนตายเกลื่อนกลาด มีการแขวนคอให้เห็นว่ามีคนถูกแขวนคอ วันนั้นมีนักข่าวมาทำข่าวจำนวนมาก หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์กับดาวสยาม ฉบับวันที่ 5 ตุลาคมลงข่าว แล้วมีภาพใกล้เคียงกับองค์รัชทายาทถูกแขวนคอ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นไม่มีภาพดังกล่าวเลย ทำให้มีการฟ้องผู้ต้องหา 18 คนคือ คุณสุธรรม แสงประทุม กับพวก
ตอนพยานเบิกความในศาล ปรากฏว่าช่างภาพของหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับยืนยันว่า ตอนถ่ายรูปไม่เหมือนองค์รัชทายาท แต่เมื่อส่งให้ห้องล้างอัดแล้ว ทำไมรูปออกมาเหมือนไม่ทราบ ตอนนั้นผมได้มีโอกาสซักความ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ท่านคิดว่าอาจเกิดจากการแต่งภาพก็ได้ หมายความว่า เมื่อล้างแล้วมีการแต่งก่อนจึงนำมาลงหนังสือพิมพ์ แต่แล้วก็มีกฎหมายนิรโทษกรรมก่อนที่ศาลจะพิพากษา
คดีที่ผมได้ว่าความกรณีที่ตัดสินคดีจริงๆ คือ คดีของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุเกิดจากที่ สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ได้มีการจัดเสวนา กรณีครบรอบ 6 เดือนของ รสช. ขึ้นที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์ ชี้ให้เห็นว่า คณะ รสช.ทำการรัฐประหารก็เพื่อเถลิงอำนาจเอง แล้วที่คุณสุลักษณ์พูดก็เป็นจริง ในที่สุดคุณสุจินดาก็เข้ามาเป็นนายกฯ จนกระทั่งถูกประท้วงเมื่อพฤษภาทมิฬ
ในคดีดังกล่าว ผมถามหลายคำถามที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่ เช่น ผมเคยถามว่า คุณเป็นนายทหาร เวลาคุณเข้าเฝ้าเรียกแทนตัวเองว่าอะไร ก็บอกว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ความหมายก็คือ เศษธุลีของใต้พระบาทของพระเจ้าอยู่หัวมาอยู่เหนือกระหม่อม แล้วยังถามต่ออีกว่า พระองค์ที่รักที่บูชาของประชาชนแล้วพระองค์เองก็เมตตาปราณีต่อพสกนิกรของพระองค์ใช่มั้ย แล้วยังถามอีกว่า ก่อนหน้าที่คุณจะมาแจ้งความ มีการเสนอต่อคณะราชเลขาธิการก่อนหรือเปล่าว่า พระองค์มีความประสงค์อย่างไร เขาบอกว่าเปล่า นั่นแสดงว่าเหตุการณ์นั้นเป็นการอาศัยอำนาจในขณะนั้นเพื่อต่อต้าน
เนื่องจากการกระทำของอาจารย์สุลักษณ์เป็นการต่อต้าน รสช. ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากคำพิพากษาคดีดังกล่าว คำเบิกความพยานโจทก์จำเลยว่า ถ้าจะดูคำปาฐกถาในฐานะวิญญูชนทั่วไป ย่อมจะต้องพิจารณาว่า การที่จำเลยถูกดำเนินคดีนี้เนื่องจากเหตุอะไร ต่อต้านใคร หาใช่พิจารณาตามตัวอักษรอย่างเดียวเท่านั้นไม่ เป็นการปลุกนักศึกษาให้ตื่นขึ้นมาต่อต้านกับอำนาจไม่เป็นธรรมของ คณะ รสช.ในการยึดอำนาจ การสืบทอดอำนาจ ความเสมอภาคของประชาชน ไม่ควรที่คณะบุคคลใดจะแอบอ้างใช้สถาบันหลักของชาติเป็นเครื่องมือรับใช้ทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของหมู่คณะตน ซึ่งคณะทหารที่ยึดอำนาจได้กระทำการละเมิดต่อการกระทำที่ถูกต้องดังกล่าวมาโดยดลอด รวมถึงการยอมสยบรับใช้คณะ รสช.ของบุคคลในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณในนานาอารยะประเทศ ซึ่งศาลก็ได้พิจารณาแล้วว่า เจตนาของการพูดดังกล่าวเป็นการเตือน แต่อาจใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ในทีสุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีก็เป็นอันยุติ
การนำเอาข้อหาหมิ่นฯมาใช้ เพื่อสยบไม่ให้มีการต่อต้านต่ออำนาจ บางคดีที่เกิดขึ้นแล้วทำให้เสื่อมเสียด้วยซ้ำ เช่น การเอาผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้านของตัวเองมาเช็ดโต๊ะอาหารแล้วถูกตัดสินจำคุก เป็นปัญหาจากการตีความอย่างกว้างขวางจนเกิดปัญหา ใช้อย่างไม่จำกัด ดังนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมอยากเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่นักกฎหมายต้องตีความโดยเคร่งครัด แล้วนำเสนอต่อสำนักเลขาฯ ก่อนว่า มีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไร ไม่ใช่ตีความอย่างกว้างขวาง จนเกิดความเสียหายอย่างที่ผมเล่ามาทั้งหมด
0 0 0
ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ผมมี 3 ประเด็น เพราะผมคิดว่าเรื่องปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเกิดจากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
1.การริเริ่มคดี 2.กลไกและการกลั่นกรองของกระบวนการยุติธรรม 3.การตีความความหมายของหมิ่นฯตามศาลไทย
ประเด็นแรกในคดีหมิ่นประมาทโดยทั่วไป คนที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่ คือคนที่ถูกกล่าวถึง แต่ว่าในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ของประมวลกฎหมายอาญา เกิดขึ้นเพราะประชาชนทั่วไปที่อ้างความจงรักภักดี อ่านหนังสือพิมพ์สักฉบับหนึ่งพร้อมข้อความเฉี่ยวๆ หน่อย หมายความมันจะใช่หรือไม่ใช่ไม่รู้ แล้วก็ไปแจ้งความ เช่น กรณีอาจารย์สุลักษณ์ หรือในอดีต มีกรณีคุณประเดิม...ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งแล้วมีบทกวีที่มีข้อความเฉี่ยวๆ ใช่หรือไม่ใช่ไม่ชัดเจน แต่พอมีคนหมิ่น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้มีอำนาจหาลูกน้องให้ไปแจ้งความ คนที่ถูกดำเนินการจะอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายที่มีอำนาจ ในทางตรงกันข้าม หากเป็นผู้มีอำนาจพูดเฉี่ยวๆ บ้าง เช่น เฮ้ย อยากให้ลาออกให้มากระซิบที่ข้างหู สมมติว่ามีคนไปแจ้ง ผมเชื่อว่าไม่มีการดำเนินการ อย่างนี้แหละที่เรียกว่า มันถูกใช้ในทางการเมือง คือผู้มีอำนาจใช้มันเป็นประโยชน์กับตนเองเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อไรที่ผู้มีอำนาจพูดเฉี่ยวๆ บ้าง ผมเชื่อว่าไม่มีการดำเนินการ อันนี้คือปัญหา
คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่รู้ว่าจงรักภักดีจริงหรือไม่ คดีนี้จึงถูกใช้ประโยชน์อย่างพร่ำเพรื่อโดยผู้มีอำนาจ ดังนั้นการมองคดีเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราจำเป็นต้องจำกัดบุคคล หรือองค์กรผู้เริ่มต้นที่จะริเริ่มการฟ้องคดี เช่นที่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอไว้ คือให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ฟ้อง เพื่อจะได้เห็นชัด ถ้าเอาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้เพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ หากเปิดโอกาสให้ใครใช้ก็ได้อย่างกว้างขวาง โอกาสที่จะถูกใช้ไปในทางการเมืองมีสูงมาก
ประเด็นที่ 2 กระบวนการยุติธรรม ได้กลั่นกรองขนาดไหนโดยเฉพาะในชั้นตำรวจกับอัยการ อย่างที่ผมกล่าวไว้คือผู้มีอำนาจใช้ลูกน้องไปแจ้งความ ส่วนใหญ่ตำรวจมักจะยืนยันว่า ผิดแน่ๆ ไว้ก่อน เช่น กรณีคุณสนธิ ที่ลงในมติชน ฉบับ 22 เมษายน 2549 นี้เอง ความว่า
“เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ซึ่งรับมอบอำนาจจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางไปยื่นฟ้อง พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผบก.ป. ในความผิด เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา คำฟ้องระบุว่า จำเลยเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีที่โจทก์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ในหนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก โดยเมื่อวันที่ 18 เมษายน จำเลยได้บังอาจให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอันเป็นการใส่ความโจทก์โดยเจตนา และสื่อต่างๆ นำไปเผยแพร่ เมื่อวันที่ 19 เมษายน ว่า ขณะนี้ได้สอบสวนพยานไปแล้วกว่า 100 ปาก โดยมีหลักฐานทั้งภาพและเสียง ผู้สื่อข่าวถามว่า พนักงานสอบสวนเลือกปฏิบัติหรือไม่ ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยกับนายสนธิ เพราะที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พูดจาพาดพิงเบื้องสูง พล.ต.ต.วินัยกล่าวด้วยเสียงเคร่งขรึมว่า พูดหมิ่นตรงไหน ให้บอกรายละเอียดมา หมิ่นตรงไหน ที่ผ่านมาไม่มีใครพูดหมิ่นชัดเจนเท่ากับนายสนธิอีกแล้ว”
หรือกรณีมีกวีบทหนึ่งเมื่อ 2517 ตีพิมพ์ในวารสารประชาธรรม ชื่อ ถึงชาวฟ้าอย่าฆ่าชาวดิน โดยรวมๆ กวีบทนี้จะบอกว่า ระหว่างชาวเขาได้รับการดูแลในขณะที่เกษตรกรชาวพื้นราบไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม แล้วเดือนกันยายนก็มีกระแสออกมาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แล้วก็มีคนถือหนังสือพิมพ์ไปแจ้งตำรวจ ในที่สุดศาลยกฟ้องแล้ว ตำรวจบอกว่าคดีนี้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างชัดเจน แต่ถึงศาลบอกว่าไม่หมิ่น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในขั้นต้นถ้าเป็นคดีของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล หรือผู้ไม่มีอำนาจ ตำรวจจะทำหน้าที่อย่างแข็งขัน
ประเด็นสำคัญคือ ตำรวจมีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงหรือตัดสิน ผมว่าส่วนใหญ่จะตัดสินลงไปแล้ว พอไปสู่อัยการ อัยการก็ตัดสินไปตามหลักกฎหมาย บ้างก็ไม่ได้ตัดสินไปตามหลักกฎหมาย อย่างกรณีตัวอย่างที่พบคือ มีเด็กผู้ชายเข้าไปกินข้าวในร้านที่มีลูกเป็นผู้หญิง เจ้าของร้านก็เป็นครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัด เข้าใจว่าผู้ชายคงเมานิดหน่อย แต่พอเข้าไปแล้วเกิดทะเลาะกัน ผู้ชายจะเข้าไปทำร้ายผู้หญิง แล้วเด็กหญิงก็บอกว่า เฮ้ยรู้มั้ย ฉันเป็นใคร ลูกครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัด ผู้ชายก็บอกว่า อย่าว่าแต่เป็นลูกครูใหญ่เลย เป็นลูกคุณหลวงเจ้าพระยาลูกเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ก็กล้าทำ ถ้ามาด่าแบบนี้ แล้วก็ไปแจ้งความ ตำรวจส่งให้อัยการ อัยการส่งฟ้องแล้วศาลตัดสินยกฟ้อง หลังจากคดีนี้ก็มีงานเลี้ยงศิษย์เก่าที่ธรรมศาสตร์ ตัวอัยการเดินเข้ามาบอกผู้พิพากษาว่า ดีใจทีท่านตัดสินแบบนี้
“ผมเห็นด้วยกับท่าน ผู้พิพากษาก็บอกว่า อ้าว ถ้าเห็นด้วยแล้วส่งฟ้องมาทำไม คือคนฟ้องเป็นครูใหญ่แล้วก็เป็นประธานลูกเสือชาวบ้าน ถ้าไม่ฟ้องเขาจะปลุกระดมชาวบ้านมาเล่นงานผม”
ประเด็นคือ ตำรวจและอัยการได้ทำอะไรบ้างเพื่อเป็นการกลั่นกรอง การเปลี่ยนชื่อจากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเปลี่ยนจากกรมอัยการเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด มีความหมายอะไรต่อกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็ถูกแทรกแซงจากแรงกดดันทางการเมืองและสังคมอยู่ดี โดยเฉพาะคดีที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ประเด็นที่สามเราอาจจะอธิบายว่า กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นปัญหา ผมพบว่าเวลาที่ศาลตัดสินมี 2 เรื่องที่ต้องระวัง คือในกฎหมายเขียนว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ศาลตีความคำว่าหมิ่นประมาทให้กว้างขวางออกไป ทั้งที่คำว่าหมิ่นประมาท หมายถึงการพูดแล้วทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือมักจะมีการหยิบเอาบางส่วนโดยไม่สนใจบริบทเอามาลงโทษ
ตัวอย่างเช่น คำพิพากษา 1294/2521 มีการอภิปรายเปิดไฮปาร์ค พอจบก็เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วนักศึกษาราชภัฏสวนสุนันทาคนหนึ่งบอกว่า เปิดอะไรฟังไม่รู้เรื่อง แล้วตำรวจเห็น จึงจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทนายเบิกความในศาลบอกว่า นักศึกษาคนนี้ ยืนแต่ยืนไม่ตรงแล้วแกว่งแขน เป็นการกระทำซึ่งเป็นสัญลักษณ์ แล้วศาลตีความว่าผิด ซึ่งก็หมายความถึงการกระทำต่อสัญลักษณ์ เป็นการตีความที่เลยเถิด การตีความตามกฎหมายอาญาต้องเคร่งครัด ดังนั้นการกระทำต้องชัดทั้งตัวการกระทำและเจตนา
ผมคิดว่ามีหลายคดีที่การตีความขยายกว้างขวางออกไป นอกจากนี้ยังมีคดีคุณวีระ มุสิกพงศ์ ไปหาเสียงที่บุรีรัมย์ เมื่อ 2519 ช่วงนั้นมีคนกล่าวหาประชาธิปัตย์ว่า คนพวกนี้ไม่ได้เกิดที่ภาคอีสาน อย่าไปเลือกมัน แล้วคุณวีระก็บอกว่า ถ้าเลือกเกิดได้ไม่เกิดเป็นลูกชาวนาหรอก จะเกิดเป็นพระองค์เจ้าวีระ คดีนี้ศาลก็ลงโทษว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
กรณีคุณสรรพสิทธิ์ คุณประพันธ์ ผู้อำนวยการสิทธิเด็กตั้งคำถามว่า หากตีความอย่างเคร่งครัด จะพบว่า พระองค์เจ้าวีระไม่อยู่ใน เกณฑ์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สอง คือมันเป็นเรื่องสมมติ ใครก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องสมมติ นี่แสดงให้เห็นว่า ศาลตีความออกไปกว้างขวางพอสมควร อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง อีกคดีหนึ่ง ชาวบ้านเปิดงานขายของแล้วมีรูปในหลวงร่วงลงมา แล้วไปตอกติดไว้เหมือนเดิม ตำรวจผ่านมาแล้วถามว่าทำอะไร ชาวบ้านก็ใช้ภาษาถิ่นตอบ ทนายพยายามสู้ว่า เป็นภาษาถิ่น แต่ศาลก็ตัดสินว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปัญหาคือศาลไม่ดูบริบทแวดล้อม หยิบมาเพียงบางส่วน แล้วศาลตัดสินว่าหมิ่นเดชานุภาพ การแก้ก็คือคดีหมิ่นฯ เราต้องแยกว่าเป็นแค่การพูดไม่เหมาะสมหรือไม่ ไม่เช่นนั้นเราจะกวาดคนจำนวนมากเข้าไปในคดีนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น