หมายเหตุ: LM Article


LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง

LM watch



วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเซ็นเซอร์ข่าวหมิ่นพระมหากษัตริย์ในสื่อไทย (ข้อสังเกตกรณีคดีฝรั่งสวิส)

ที่มา: ประชาไท (23 เมษายน 2550)


การเซ็นเซอร์ข่าวหมิ่นพระมหากษัตริย์ในสื่อไทย (ข้อสังเกตกรณีคดีฝรั่งสวิส)

ประวิตร โรจนพฤกษ์

“เขาคงไม่ลง [ข่าวเรื่องนี้] เพราะกลัวว่ามันจะกระทบถึงภาพลักษณ์ของกษัตริย์” ชัยฤทธิ์ ยนต์เปี่ยม ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ สายการเมือง กล่าวกับผู้เขียนเมื่อถูกถามว่า เขาคิดว่าหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะลงข่าวในวันรุ่งขึ้นเกี่ยวกับคำพิพากษาวันนี้ (29 มี.ค.) ของศาลต่อชายชาวสวิสผู้ได้ใช้สเปรย์สีพ่นทับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือไม่

ปรากฎว่า ชัยฤทธิ์คาดการณ์ได้ค่อนข้างถูกต้อง เพราะผู้เขียนไม่พบข่าวเกี่ยวกับคำพิพากษาต่อนายรูดอร์ฟ จูเฟอร์ ชาวสวิส วัย 57 ปี ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ พอผู้เขียนพยายามหาข่าวชิ้นเดียวกันในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน หรือแม้แต่กรุงเทพธุรกิจก็ไม่พบข่าวนี้ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันซึ่งเทิดทูนสถาบันสูงสุดพร้อมแถบสีเหลืองทุกวันก็ไม่พบข่าวนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนทางประชาไท (www.prachatai.com) หนังสือพิมพ์ออนไลน์อิสระ ซึ่งยึดหลักว่าจะต้องเสนอข่าวสำคัญที่สื่อกระแสหลักไม่ให้พื้นที่ ได้ลงข่าวนี้ ถึงแม้ข่าวในประชาไทจะเป็นข่าวที่แปลมาจากสำนักข่าวบีบีซีและสำนักข่าวต่างประเทศอื่นๆ เช่นกัน นางสาวตติกานต์ เดชชพงศ ผู้สื่อข่าวประชาไทที่แปลรวบรวมข่าวเรื่องนี้ กล่าวกับผู้เขียนว่า ข่าวกรณีนายจูเฟอร์สำคัญ เพราะเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมายไทย

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และเดอะเนชั่น ก็อ้างข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ สองหนังสือพิมพ์ไทยภาษาอังกฤษได้รายงานข่าวนี้อย่างสั้นๆ โดยบางกอกโพสต์นั้นเสนอเป็นข่าวเล็กๆ ในมุมล่างซ้ายสุดของหน้าสอง ของฉบับวันที่ 30 มีนาคม ส่วนเดอะเนชั่น ซึ่งไม่ได้ลงข่าวตอนที่นายจูเฟอร์ถูกจับ กลับเล่นข่าวนี้อย่างใหญ่โตเป็นพาดหัวข่าวใหญ่อันดับสองบนหน้าหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการยูเทิร์นจากจุดยืนตอนแรกในระดับหนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือการที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษทั้งสองฉบับไม่มีจดหมายถึงบรรณาธิการจากผู้อ่าน พาดพิงแสดงทัศนะต่อคำพิพากษานี้เลย ถึงแม้ว่าเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าชาวต่างชาติในประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อยคงสนใจข่าวนี้ เพราะนายจูเฟอร์เองก็เป็นชาวต่างชาติ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการเซ็นเซอร์ไม่ลงจดหมายถึงบรรณาธิการโดย บก. เอง

แล้วคงไม่ต้องพูดถึงทีวีวิทยุซึ่งที่ดูผ่านๆ ไม่ปรากฎข่าวใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากทางวิทยุ เอฟเอ็ม 95 ซึ่งผู้เขียนได้เผอิญฟังในช่วงนั้น กลับมีข้อความเชิญชวนให้ประชาชนใส่เสื้อเหลือง “ทุกวัน” จนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 80 พรรษา

แต่ภายใต้ผิวน้ำที่ดูค่อนข้างนิ่ง คนบางกลุ่ม นักข่าวบางคน (รวมถึงผู้เขียน) กลับมีปฏิกิริยากับคำพิพากษาจำคุก 10 ปี (จากโทษสูงสุด 75 ปี เพราะพ่นสเปรย์สีบนพระบรมฉายาลักษณ์ 5 ภาพ คิดเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ภาพละ 15 ปี) เพราะพวกเขารู้สึกว่า นายจูเฟอร์ก็เพียงแค่เอาสเปรย์ไปฉีดพ่นทับภาพและอาจจะไม่สอดคล้องกับคอนเซ็ปท์เรื่องธรรมราชา “shame on Thai people, as the kingdom forces rest of the world to respect and worship their king,” นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส จากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เขียนเป็นภาษาอังกฤษในข้อความแลกเปลี่ยนทางอีเมล

แต่ที่สำคัญคือว่าเราสามารถเรียนรู้อะไรได้จากการรายงานหรือไม่รายงานคำพิพากษาในสื่อไทย

ประการแรก เหตุการณ์และปฏิกิริยาของสื่อที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องยืนยันอย่างชัดเจนถึงสภาวะวัฒนธรรมเซ็นเซอร์จากรัฐและเซ็นเซอร์ตัวเองเกี่ยวกับสถาบัน จริงๆ แล้วสิทธิในการแสดงความเห็นอย่างเท่าทันและ critical ในที่สาธารณะไม่ได้รับการยอมรับในรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในรัฐธรรมนูญปี 40 ที่โดยทั่วไปถือว่า ก้าวหน้าที่สุดฉบับหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระ มหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยอธิบายว่าทำไมหนังสือพิมพ์บางฉบับจึงกล้าที่จะรายงานเกี่ยวกับกรณีนายจูเฟอร์ ถึงแม้หนังสือพิมพ์และสื่อเหล่านั้นจะเอาข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศมาตัดต่ออ้างอิงเพื่อเป็นการเซฟตัวเอง เพราะกลัวว่าหากเขียนเองและเขียนไม่ต้องตาโดนใจคนบางกลุ่ม หนังสือพิมพ์เหล่านั้นอาจจะถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียเองก็เป็นได้

ประการที่สอง เป็นที่น่าสังเกตว่าข่าวจากสำนักข่าวเอพีและเอเอฟพีซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทยสองฉบับใช้อ้างอิง ไม่ได้พยายามไขข้อสงสัยหรือสืบให้รู้ว่านายจูเฟอร์มีแรงจูงใจอะไรในการกระทำเช่นนั้น นอกจากบอกเพียงว่า เขาอยู่ในอาการเมา

นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ผู้สื่อข่าวเอพี บอกกับผู้เขียนว่า การไต่สวนโดยศาลที่เชียงใหม่นั้นกระทำไปโดยไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้าฟังคำให้การ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะโดยปกติแล้ว นักข่าวทั้งไทยและเทศจะได้รับอนุญาตให้ติดตามฟังการไต่สวนคดีอื่นๆ ผู้สื่อข่าวหญิงผู้นี้ยังได้กล่าวอีกว่า อัยการก็ไม่ยอมพูดอะไรมาก และพอศาลอ่านคำพิพากษา ก็ไม่ปรากฎคำอธิบายว่า ทำไมนายจูเฟอร์ถึงได้ทำในสิ่งที่เขาได้กระทำไป

ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า นายจูเฟอร์ได้อาศัยอยู่ในเมืองไทยมากว่า 10 ปี และแต่งงานมีภรรยาเป็นคนไทย เขาจึงน่าจะรู้ดีว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อนเพียงไร ลำพังเพียงแค่เมามาย ก็คงไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรพิเรนเช่นนี้หากไม่มีแรงกดันหรือความรู้สึกแปลกแยกอะไรที่เก็บอยู่ในใจ หรืออาจเป็นเพราะนายจูเฟอร์รู้สึกอึดอัดกับวัฒนธรรมเทิดทูนเจ้า ยกย่องสถาบันที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลจนกลายเป็นพิธีกรรมประจำวัน และหนังสือพิมพ์ไทยจำนวนหยิบมือเดียวที่กล้ารายงานข่าวคำพิพากษาก็มิได้สนใจที่จะตั้งคำถามหรือหาคำตอบว่า แท้จริงแล้วนายจูเฟอร์มีแรงจูงใจอะไร

ในสังคมที่การพูดถึงสถาบันสูงสุดอย่างเท่าทัน อาจถือได้ว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี การพูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันนั้นมักเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ใช่ที่สาธารณะและในหมู่เพื่อนฝูงหรือคนที่รู้จักกัน ข้อเสียก็คือ หลายครั้งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นการซุบซิบนินทากระจายข่าวลือหรือข่าวกุและมีผลทางลบต่อสถาบันมาก เพราะไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจริงเท็จเพียงไร ผู้เขียนคิดว่ามันไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่อยากเป็นประชาธิปไตยเพราะผู้คนจะไม่สามารถแสดงความคิดความเห็นอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาในทางสาธารณะได้โดยไม่ต้องกลัว และแท้จริงแล้วนักข่าวจำนวนมากและ บก. ก็กลัวว่า การวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะเท่ากับเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปเสียด้วยซ้ำไป แม้บรรดาปัญญาชนจำนวนไม่น้อยก็มักใช้คำแทนเวลาพูดถึงกษัตริย์และสถาบัน เช่นคำว่า “ฟ้า”, “เบอร์ 9”, “คุณก็รู้ผมหมายถึงใคร” เป็นต้น

คนทำงานสื่ออาจจะบ่นหรือครุ่นคิดเป็นห่วงต่อสถาบันฯและอนาคตของสถาบันฯ แต่การกระทำของสื่อในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่า สื่อกระแสหลักมิได้และจะไม่เป็นพลังด้านบวกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันสื่อกลับเล่นบทบาทจอมประจบอย่างไม่รู้จักพอเพียงและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่ในพื้นที่ส่วนตัวปราศจากสายตาคนนอกและสาธารณะ คนในวงการสื่ออาจวิเคราะห์วิจารณ์สถาบันได้อย่างมิรู้จบ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข่าวลือซุบซิบนินทาที่ได้ยินมา แต่พวกเขาจะไม่มีวันพิมพ์ข้อความอย่างเท่าทันสู่สาธารณะ แม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 7 หนังสือพิมพ์ไทยจำนวนหนึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันสูงสุดอย่างเปิดเผยมาแล้วก็ตาม

นี่คือบทสรุปว่าสื่อไทยก้าวถอยหลังไปไกลแค่ไหนแล้วในปัจจุบัน

0 0 0 0 0 0 0 0 0

ปล.1 บทความนี้เขียนภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเองเช่นกัน หากผู้อ่านสนใจพูดเปิดกว้างเท่าทันเป็นการส่วนตัว ติดต่อผู้เขียนได้โดยตรง

ปล.2 ในวันที่ 13 เมษายน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เนชั่นและมติชนได้รายงานว่า นายจูเฟอร์ ไดรับพระราชทานอภัยโทษ แต่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ ก็ยังไม่ยอมรายงานข่าวเหมือนกับว่าเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น

ที่น่าสนใจคือว่าในขณะที่หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น รายงานหน้าหนึ่งว่า นายจูเฟอร์ถูก “เนรเทศ” (deport) หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ทางบางกอกโพสต์กลับใช้คำว่านายจูเฟอร์จะ “กลับ” (leave) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์หลังถูกปล่อยตัว

ไม่มีสื่อไหนแม้กระทั่งประชาไท ซึ่งลงข่าวนี้ ที่ตั้งคำถามว่า “อภัยโทษ” ไปด้วยกันได้กับการ “เนรเทศ” หรือไม่

หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษทั้งสองฉบับนั้นอ้างข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ ทางเดอะเนชั่น อ้างข้อมูลที่น่าสนใจว่ากรณีนายจูเฟอร์ถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับเรื่องฮือฮาเกี่ยวกับกรณีวิดีโอ YouTube ที่หมิ่นสถาบัน “การถกเถียงวิพากษ์เรื่องคำพิพากษาโทษหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างแข็งทื่อ ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นในทางอินเตอร์เนต โดยมีวิดีโอที่หมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยอ้างว่า กำลังวิพากษ์วิจารณ์กฎหมาย [หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ]” หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นรายงานโดยขยายความต่อไปว่า “ประเทศไทยได้บล็อคเว็บไซต์ของวิดีโอเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งได้รับคำประณามจากกลุ่มพิทักษ์สื่อซึ่งกล่าวหาว่ารัฐบาลที่แต่งตั้งโดยทหารกำลังเพิ่มระดับการเซ็นเซอร์การแสดงความเห็นทางการเมืองบนอินเตอร์เนต คลิปแรกที่ถูกเอาออกหลังจากรัฐบาลไทยตัดสินใจเซ็นเซอร์เว็บไซต์ YouTube ทำให้เกิดปฏิกิริยามีวิดีโอคลิปล้อเลียนพระเจ้าอยู่หัวออกมาอีกหลายสิบชิ้นจากทั่วโลก”

น่าเสียดายว่า ประชาไทก็มิได้พยายามโยงเรื่องนายจูเฟอร์กับวิดีโอ YouTube ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า ข่าวแปลส่วนหนึ่งที่ประชาไทอ้างอิงมาจากสำนักข่าวอัลจาซีร่าห์ ซึ่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากทรัพย์สินของกษัตริย์ผู้ปกครองรัฐกาตาร์ ซึ่งทางอัลจาซีร่าห์อาจจะมองว่า เรื่องเกี่ยวกับเจ้าก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ณ เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 15 เมษา เวลาประมาณ 11.19 น. (สองสามวันหลังโพสต์ข่าวอภัยโทษ) มีผู้อ่านเข้ามาถึง 1932 คน และมีการแสดงความเห็นถึง 35 ความเห็น หลายความเห็นก็เป็นความเห็นที่ critical ซึ่งเป็นสิ่งไม่อาจคาดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้ในสื่อหนังสือพิมพ์ เพราะจดหมายถึงบรรณาธิการต่อหนังสือพิมพ์กระแสหลักเช่น เนชั่น บางกอกโพสต์ ไม่ค่อยมีความเห็นที่เท่าทันหรือแม้แต่ความเห็นที่ชมในสองวันแรก หากเห็นหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นลงจดหมายชิ้นหนึ่งในอีกสัปดาห์ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก็เป็นจดหมายเขียนในทำนองเทิดทูนพระราชาผู้ทรงธรรม

** บทความนี้เขียนขึ้นครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษตามคำเชิญของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อลงพิมพ์ในวารสารข่าว Deadline ของสมาคมในฉบับล่าสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น