หมายเหตุ: LM Article


LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง

LM watch



วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หมิ่นองคมนตรี

ที่มา: มติชน (16 เมษายน 2550 หน้า 6)


หมิ่นองคมนตรี

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กฎหมายได้ให้สิทธิและความคุ้มครองเป็นพิเศษแก่องคมนตรีในการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะหรือไม่

ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มต้านรัฐประหารซึ่งได้มีประเด็นเกี่ยวข้องไปถึงองคมนตรีบางคน และได้ทำให้เกิดการกล่าวหาว่าบุคคลกลุ่มนี้กำลังทำในสิ่งที่ "ลามปาม" จึงควรยุติการกระทำลง รวมถึงการอ้างอิงว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายที่ต้องได้รับการลงโทษ

ท่าทีดังกล่าวเป็นลักษณะของการปกป้ององคมนตรีในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้มีคำอธิบายที่อาจสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นว่าสถานะขององคมนตรีมีอภิสิทธิ์มากกว่าบุคคลทั่วไป แม้กระทั่งนักกฎหมายขาใหญ่บางคนก็ยังอ้างอิงในแบบเดียวกัน

ความเข้าใจในเรื่องการกระทำที่จัดว่าเป็นการหมิ่นองคมนตรีจึงควรได้รับการพิจารณาให้ชัดเจนเพื่อมิให้เกิดการอ้างกฎหมายลอยๆ มาปิดปากบุคคลอื่นอีกในอนาคต



ใน เบื้องต้น พึงต้องเข้าใจว่าสถานะขององคมนตรีไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เป็นพิเศษจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยสาธารณะ องคมนตรีไม่ได้รับการคุ้มครองไว้เป็นพิเศษในกฎหมายอาญาแต่อย่างใด มาตรา 112 ของกฎหมายอาญา หรือที่ถูกเรียกกันว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นกฎหมายที่ห้ามการดูหมิ่นหรือแสดงการอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหา กษัตริย์ก็จำกัดไว้เพียงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงองคมนตรีแต่อย่างใด

แม้ไม่ได้รับการคุ้มครองไว้ในกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใครใคร่จะด่าก็สามารถไปยืนด่าองคมนตรีที่หน้าบ้านได้อย่างเสรี

เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป องคมนตรีได้รับการปกป้องสิทธิตามกฎหมายในเรื่องของการหมิ่นประมาท โดยกฎหมายนี้มุ่งคุ้มครองบุคคลจากการถูกใส่ความซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ตนเอง หากมีบุคคลใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว เช่น หากมีใครมายืนด่าหน้าบ้านว่าเจ้าของบ้านหลังนี้เป็นพวกโรคจิตหรือโกงกินจนร่ำรวย ผู้ที่ถูกกล่าวหาก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนได้ด้วยการดำเนินคดีตามกฎหมาย

แต่ต้องตระหนักด้วยว่านอกจากการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลจากการถูกให้ร้ายของบุคคลอื่นแล้ว กฎหมายอาญาก็ยังมุ่งคุ้มครองสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนต่อการกระทำของบุคคลต่างๆ ให้สามารถกระทำได้ หากเป็นการทำไป "เพื่อความชอบธรรม" หรือ "ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ"

เพราะฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชนต่อบุคคลหรือการกระทำต่างๆ จึงสามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลสาธารณะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนรวม อันเป็นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย องคมนตรีก็ไม่อยู่ในฐานะของข้อยกเว้นใดๆ

พูดให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือ ในการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะแล้ว องคมนตรีได้รับการคุ้มครองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง สื่อมวลชน เอ็นจีโอ คุณชูวิทย์ คุณทักษิณ ตาสีตาสา ก็ล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน



ทั้ง หมดที่กล่าวมานี้อยู่บนพื้นฐานของสิทธิทางกฎหมาย ส่วนข้ออ้างว่าการวิจารณ์องคมนตรีเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ ไม่สามารถเอาผิดในทางกฎหมายได้แต่อย่างใด

ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวซึ่งพาดพิงไปถึงองคมนตรี ประชาชนบางกลุ่มก็ได้มีการรวมตัวเรียกร้องให้ยุติการกระทำที่เป็นการลามปามต่อองคมนตรี

เป็น ธรรมดาที่บุคคลในระดับองคมนตรีย่อมมีผู้เคารพและศรัทธา ยิ่งเป็นบุคคลที่ได้ผ่านตำแหน่งใหญ่โตของบ้านเมืองมาหลายตำแหน่งเป็นระยะ เวลานานก็ไม่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่มีผู้ให้ความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ความเคารพศรัทธาส่วนตัวของบุคคลไม่ได้ทำให้เกิดสิทธิในการเอามือไปปิดปาก คนอื่นๆ ไม่ให้พูดในสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย

สิทธิพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยคือ การที่บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้โดยเคารพในความเห็นที่ไม่เหมือนกับความเห็นของตน แม้เห็นต่างกันอย่างราวฟ้ากับดิน เช่นระหว่างคนที่เชื่อว่ารัฐประหารเมื่อ 19 กันยายนเป็นทางออกของปัญหา กับคนที่มองในด้านตรงกันข้าม แต่ไม่มีใครมีความชอบธรรมในการปิดปากอีกฝ่าย ต่างฝ่ายต่างต้องแสดงเหตุผลที่สนับสนุนความเชื่อของตนออกมา

ด้วยความเชื่อว่าการแลกเปลี่ยน การถกเถียงกันด้วยข้อมูลและความรู้จะทำให้สังคมมีปัญญามากขึ้นในการพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ

ดังนั้น สำหรับบุคคลที่เคารพรักองคมนตรีอย่างสุดหัวจิตหัวใจ หากเห็นว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความจริง หากแต่เป็นการใส่ร้ายป้ายสีก็ควรชี้แจงแสดงเหตุผลออกมา เพื่อให้สาธารณะได้ทราบถึง "ความจริง" และในขณะเดียวกันก็อาจช่วยทำให้ฝ่ายที่กล่าวหาได้หูตาสว่างขึ้นด้วย ถ้าความรักที่มีต่อองคมนตรีเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล

ด้วยท่าทีเช่นนี้ต่างหากที่จะช่วยปกป้องเกียรติภูมิแห่งองคมนตรี มากกว่าการก่นประณามและพยายามปิดปากฝ่ายที่เห็นต่าง



ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องพูดถึงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การกล่าวหาว่าการล่ารายชื่อเพื่อยื่นถวายฎีกาเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของไทยส่วนใหญ่ได้กำหนดให้การแต่งตั้งองคมนตรีเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หมายความว่าการแต่งตั้งและการให้พ้นไปจากตำแหน่งองคมนตรีย่อมเป็นตามพระราชอัธยาศัย

ในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณดังต่อไปนี้ (ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540)

"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

การ ปฏิบัติหน้าที่ขององคมนตรีจึงมีหน้าที่สำคัญสองประการ คือ การจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ประเด็นสำคัญก็คือ สมมุติว่าหากมีการกระทำบางอย่างซึ่งประชาชนเห็นว่าเป็นการกระทำที่เหลื่อมๆ ต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะขององคมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นการสมมุติโดยที่ไม่ได้ต้องการให้มีความหมายถึงบุคคลใด เป็นพิเศษ) ประชาชนควรจะกระทำอย่างไร

การยื่นถวายฎีกา เป็นประเพณีอันหนึ่งที่ประชาชนไทยได้ใช้เป็นวิถีทางในการแก้ไขปัญหาความ เดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมที่ตนเองประสบอยู่ ทั้งจากภัยธรรมชาติหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การประสบกับการความทุกข์ยากในชีวิตของครอบครัว การขอพระราชทานอภัยโทษ ฯลฯ โดยทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร

การกระทำต่างๆ เหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดพระราชอำนาจแต่อย่างใด

เช่นเดียวกันกับการแสดงเจตนาในการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นถวายฎีกาในกรณีขององคมนตรี หากเป็นการยื่นเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย การกระทำเช่นนี้ก็ย่อมไม่ได้เป็นการก้าวล่วงเข้าไปในพระราชอำนาจแต่อย่างใด ถ้าการกระทำในครั้งนี้ถูกตีความว่าเป็นการละเมิดพระราชอำนาจแล้ว การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องนายกฯ พระราชทานก็ย่อมอยู่ในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน

ในสังคมการเมืองไทย สถาบันพระมหากษัตริย์มักถูกหยิบมาอ้างอิงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และเฉพาะหน้ามากกว่าการมุ่งปกป้องสถาบันอย่างแท้จริง การจงใจหลีกเลี่ยงหรือละเว้นที่จะไม่กล่าวถึงเมื่อมีประเด็นที่อ้างอิงไปถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จะไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสถาบันและสังคมไทยในระยะยาวแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น