หมายเหตุ: LM Article


LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง

LM watch



วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชะตากรรม 2 นักโทษหญิงคดีหมิ่นฯ

ที่มา: ประชาไท (9 มกราคม 2552)


รายงาน: ชะตากรรม 2 นักโทษหญิงคดีหมิ่นฯ

ปี 2552 หลาย คนอาจโล่งอกโล่งใจที่การเมืองไทยดูเหมือนจะคลี่คลายไปอีกเปลาะใหญ่ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยอันใดก็ตาม แต่ประเด็นหนึ่งที่ยังคงเป็นเรื่องลำดับต้นซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศให้ความสำคัญ คงไม่พ้นการปราบปรามการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ปีก่อนหน้า ประเด็นนี้เป็นศาตราวุธสำคัญในการฟาดฟันคู่ขัดแย้งทางการเมือง มีหลายคนโดนแจ้งข้อหานี้ บ้างได้ประกันตัว อย่างกรณี สนธิ ลิ้มทองกุล, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, วีระ มุสิกพงษ์, จักรภพ เพ็ญแข ฯ บ้างหลบหนีการแจ้งข้อกล่าวหา อย่างกรณีชูชีพ ชีวสุทธิ์, สุชาติ นาคบางไทร บ้างถูกโยงให้พัวพันกับคดีนี้ไปอย่างพันลึก อย่างกรณีจิตรา คชเดช,โชติศักดิ์ อ่อนสูง (2549) บ้างสร้างความท้าทายแปลกใหม่ให้สังคมไทย อย่างกรณี โจนาธาน เฮด บ้างถูกบุกจับอย่างเงียบเชียบ อย่างกรณี พระยาพิชัย, ท่อนจัน สองนักท่องเว็บชื่อดัง

และบ้างก็ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเรียบร้อยแล้ว อย่างกรณี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือที่คนรู้จักเธอในนาม “ดา ตอร์ปิโด” และ บุญยืน ประเสริฐยิ่ง ดาวไฮปาร์กของแฟนพันธุ์แท้สนามหลวงที่ไม่สู้มีใครรู้จัก

หากรวมกับ Harry Nicolaides ก็นับเป็นผู้ต้องหาตัวเล็กๆ 3 รายที่ต้องนอนห้องขังมานานหลายเดือนในระหว่างประสานงานต่อสู้คดี (อ่านกรณีของ Harry ได้ที่นี่) โดย ที่สังคมไม่มีโอกาสติดตามข่าวคราว ตรวจสอบเรื่องราวของพวกเขานัก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีสื่อใดสนใจติดตามข่าวของพวกเขา ผู้ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิประกันตัวออกมาสู้คดีได้เช่นคนอื่นๆ ผู้ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ถูกสังคมพิพากษาแล้วก่อนจะมีคำพิพากษา กระทั่ง บางทีมันอาจถูกนับรวมอยู่ในความโล่งอกโล่งใจของใครหลายคนด้วย


‘ดา ตอร์ปิโด’ : ชีวิตที่ไม่อาจล่วงรู้ชะตากรรม
กรณีของดารณีนั้นเป็นที่ฮือฮาในช่วงแรก เพราะสนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำถ้อยความที่เธอพูดบนเวทีเสียงประชาชน(เวทีขนาดเล็กที่สนามหลวง ไม่แน่ชัดว่าเป็นของเครือข่ายไหน แต่มีลักษณะเป็นเวทีรวมของ “ม็อบธรรมชาติ” ซึ่งผู้อภิปรายอาจเป็นคนที่มาร่วมชุมนุม ประชาชนทั่วไป) ไปขยายต่อในเวทีพันธมิตรฯ จนปลุกระแสได้สำเร็จ และถูกข้อหาหมิ่นฯ เช่นเดียวกัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวไปในที่สุด

ดารณี ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมที่บ้านในคืนวันที่ 22 ก.ค.51 หลังจากนั้นถูกคุมตัวที่เรือนจำ ทัณฑสถานหญิงกลาง ท่ามกลางความพยายามยื่นขอประกันตัวโดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักประวัติศาสตร์จากรั้วจามจุรี ซึ่งเป็นนักวิชาการน้อยคนนักที่กล้าประกาศจุดยืนกับกลุ่ม นปช. ว่าด้วยหลักการประชาธิปไตย ต้านรัฐประหาร โดยไม่แทงกั๊กหรือหวาดกลัวกับ “ระบอบทักษิณ” เช่นนักวิชาการอื่น เขายื่นประกันตัวเธอโดยใช้ตำแหน่งข้าราชการ 3-4 ครั้ง แต่ศาลปฏิเสธ

ดารณีให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ตำรวจใช้สิทธิฝากขัง 84 วันเต็มจำนวน ก่อนจะยื่นเรื่องต่ออัยการ และต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา7เป็นโจทย์ฟ้องเธอต่อศาล ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี ซึ่งปัจจุบันมีโทษจำคุก 3 ปี ถึง 15 ปี และพรรคประชาธิปัตย์กำลังผลักดันแก้กฎหมายเพิ่มโทษมาตรานี้เป็นจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 25 ปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท

ทนายคนล่าสุดที่รับว่าความให้คือ ประเวศ ประภานุกูล

ดารณี เป็นดาวไฮปาร์กคนหนึ่งของฝ่ายต้านรัฐประหาร-อำมาตยาธิปไตย ซึ่งอาจกินความได้กว้างขวางกว่ากลุ่ม นปช. กระนั้น ใครหลายคนที่เคยขึ้นเวที นปช.เอง ก็เคยออกปากทำนองว่า เธอเป็นตัวของตัวเองสูงและไม่ค่อยฟังใคร พี่ชายของเธอเล่าว่า เธอเรียนจบปริญญาโทแต่จำไม่ได้ว่าที่มหาวิทยาลัยไหน และเคยเป็นนักข่าวอยู่ระยะหนึ่ง โดยปกติเธอเป็นหนอนหนังสือตัวยง และเป็นคนอารมณ์ร้อนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ระหว่าง ถูกคุมขัง ก็มีเพียงพี่ชายสูงวัยของเธอเท่านั้นที่นั่งรถมาจากภูเก็ตเพื่อมาเยี่ยม ซื้ออาหาร ของใช้ ส่งให้เป็นประจำทุกสัปดาห์ และเป็นผู้ที่คอยติดต่อประสานงานเกี่ยวกับเรื่องคดีความ เขามักจับรถเที่ยวเย็นเข้ากรุงเทพฯ ถึงที่หมายตอนเช้ามืด แล้วเตร็ดเตร่อยู่ขนส่งจนใกล้เวลาเปิดทำการของเรือนจำ จึงเดินทางเข้าเยี่ยม เป็นเช่นนี้ประจำ

6 เดือน ในเรือนจำกับสภาพร่างกายไม่สู้ปกติ คือ กรามค้าง อักเสบ อ้าปากกว้างไม่ได้ ซึ่งเป็นโรคที่เป็นมาก่อนเข้าเรือนจำและกำลังนัดหมายกับแพทย์เพื่อทำการผ่า ตัด ทำให้น้ำหนักตัวเธอลดลงไป 18 กิโลกรัม แม้ในเรือนจำจะมีแพทย์คอยดูแลอาการป่วยไข้แต่ก็ได้รับเพียงยาบรรเทาอาการปวดเท่านั้น

ในช่วงต้น มีผู้คนมากหน้าหลายตาไปเยี่ยมดา ทั้งบรรดาลุงป้าจากขบวนการเสื้อแดงสนามหลวง ไปจนถึงนักศึกษาหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัย

จากการพบปะพูดคุยหลายครั้ง ในชั่วเวลา 15 นาที ที่ทางเรือนจำเปิดให้เยี่ยม ในช่วงต้นๆ ดารณีกล่าวตัดพ้อท้อแท้ต่อการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะการแสดงความผิดหวังต่อนักการเมือง “ฝั่งประชาธิปไตย” ซึ่ง เป็นกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเธอและมวลชน จำนวนมาก แต่แล้วกลับไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือใดๆ เธอกล่าวตัดพ้อต่อสังคมไทยที่ลืมง่าย และประนีประนอมกับอำนาจทุกรูปแบบ เรื่อยไปจนถึงการพูดถึง “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่ง เธอมองว่าเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่มีดี มีชั่ว แต่อย่างน้อยก็ยังหยิบยื่นให้กับคนยากคนจนมากกว่าคนอื่น โดยที่เธอเห็นว่าปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมของคนชนบทนั้นเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นของประเทศไทย

หรือ แม้กระทั่ง การพูดถึงการปฏิรูประบบเรือนจำ ซึ่งเต็มไปด้วยหญิงสาววัยรุ่นจากคดียาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ เธอมองว่าการเอามาขังรวมกันไว้เฉยๆ เป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลโดยใช่เหตุ หรือการที่เรือนจำไม่มีหนังสือน่าสนใจให้อ่านเอาเสียเลยนอกไปจากหนังสือ ธรรมะ หรือกฎเกณฑ์ไม่สมเหตุสมผล อย่างการบังคับให้ผู้ต้องขังอาบน้ำได้เพียง 10 ขัน และลดเหลือ 5 ขันในหน้าหนาว รวมถึงความเป็นอยู่ที่แออัด นอนรวมกัน 40-80 คนในห้องเล็กๆ

และ ในบางครั้ง เธอก็มีคำปลอบประโลมใจตนเองหลุดออกมา เช่น พูดถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและชะตากรรมที่เลวร้ายกว่าของผู้ประศาสน์ การ ปรีดี พนมยงค์ เธอเอ่ยถึงเขาให้ได้ยินหลายครั้งในฐานะบุคคลที่เธอเคารพ

จน ถึงปัจจุบัน ดารณีที่ผ่ายผอม ไหล่ห่อ หลังงอ ไม่คาดหวังอะไรมากมายไปกว่าการออกจากเรือนจำไปต่อสู้คดี และใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ใน ชั้นสอบสวน ทนายความพยายามยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ด้วยเหตุที่เป็นความผิดมีอัตราโทษสูง ถ้อยคำที่ถูกกล่าวหานำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็น ที่เทิดทูนสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจผู้จงรักภักดี เป็นเรื่องร้ายแรงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำผิดซ้ำอีก

ในชั้นพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องขอปล่อยคราวเช่นกัน และทนายได้โต้แย้งต่อศาลอุทธรณ์ว่า การสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวตาม ม.108/1 นั้นต้องเข้าข่าย ผู้ต้องหา/จำเลย จะหลบหนี,จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน, จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น, ผู้ร้องขอประกันไม่น่าเชื่อถือ, จะ ไปก่อความเสียหายต่อการสอบสวนหรือดำเนินคดี ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยจะไปยุ่งกับพยานหลักฐานเพราะพนักงานสอบสวนได้ ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการหลบหนีนั้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลย จะหลบหนี ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีนี้เป็นเรื่องร้ายแรงนั้นเป็นการวินิจฉัย ข้อเท็จจริงนอกสำนวน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39วรรค 2 และ 3 เพราะคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยบริสุทธิ์

เอกสาร คำร้องขอปล่อยชั่วคราวยังระบุอีกว่า การไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้คดีของจำเลย การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ทำได้ยากลำบาก อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับโทษคดีข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต ศาลก็ยังเคยปล่อยตัวชั่วคราวมาแล้ว หรือแม้แต่คดีของบุคคลมีชื่อเสียงอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ศาลก็เคยให้ปล่อยชั่วคราว โดยสั่งอนุญาตตั้งแต่ยังอยู่ในห้องพิจารณาคดี นอกจากนี้ในชั้นฝากขังพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยชั่วคราว ขณะที่ในชั้นพิจารณาคดีของศาลที่กำลังดำเนินอยู่นี้ พนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยชั่วคราว จึงร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ราวกลางเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์ได้ยืนยันเหตุผลเดิมของศาลชั้นต้น พิจารณายกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

นอก จากคดีหมิ่นฯ แล้ว เธอยังโดนคดีจากกรณีที่นำมวลชนสนามหลวงจำนวนหนึ่งไปปิดล้อม บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด ถนนพระอาทิตย์ พร้อมกล่าวโจมตี สนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.51 อีกหลายข้อหา

ทั้งสองคดีนี้จะมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยในราวเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้

น่า สังเกตว่า ในวันขึ้นศาลเพื่อนัดหมายสืบพยาน ตรวจสอบหลักฐานนั้น เธอถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำ และปรากฏตัวในชุดนักโทษที่แปลกไป จากเดิมที่เป็นชุดสีน้ำตาลล้วน มาเป็นเสื้อสีน้ำตาล มีแถบสีแดงสดที่ปลายแขน ซึ่งมันเป็นเสื้อของผู้ต้องขังคดีอุกฉกรรจ์ เช่น ค้ายาบ้าเกินหนึ่งหมื่นเม็ดขึ้นไป


บุญยืน: นักโทษที่ไม่มีใครรู้จัก
กรณีของบุญยืนต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

บุญ ยืน ประเสริฐยิ่ง เป็นหญิงวัยกลางคน เธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าอยู่แถวชานเมือง มีคนบอกว่าเธอยังเป็นหมอดูด้วย และมาเคลื่อนไหวร่วมชุมนุมที่สนามหลวงตั้งแต่หลังรัฐประหารโดยไม่ให้ที่บ้าน รู้

เธอ เรียนไม่สูงนัก บุคลิกแบบหญิงชาวบ้านขาลุย แต่ก็ประกาศตัวชัดว่าเป็นคนรักประชาธิปไตย ไม่มีใครรู้ประวัติที่มาที่ไปของเธอมากนัก แต่หลายคนที่ชุมนุมแถวสนามหลวงเป็นประจำ ไม่ว่าเวทีเล็ก เวทีใหญ่ เวทียิบเวทีย่อย แบบรวมตัวกันเองสะเปะสะปะไม่ต้องมีแกนนำ น่าจะรู้จักเธอดีในฐานะมือไฮปาร์กที่ดุดัน แอคชั่นเดือดเด็ด

บุญยืนเข้ามอบตัวทันทีต่อเจ้าหน้าที่ในวันที่ 15 ส.ค.51 หลัง จากทราบว่าโดนข้อหานี้เพราะเกรงจะเป็นข่าวโด่งดัง เสียชื่อวงศ์ตระกูล หลังจากนั้นก็ถูกนำตัวไปไว้ในเรือนจำแดนเดียวกับดารณี แต่ทั้งสองถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยกัน

ด้วย ความหวาดกลัว เธอตัดสินใจรับสารภาพตามคำแนะนำของผู้หวังดี ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในเรือนจำด้วย โดยไม่ตั้งทนายต่อสู้คดี แม้ว่าจะยังรู้สึกตะขิดตะขวงกับสำนวนบางส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ก็ตาม

วันที่ 6 พ.ย.51ศาลพิพากษาจำคุกเธอ 12 ปี ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชทายาท และลดโทษให้กึ่งหนึ่งจากการสารภาพ เหลือโทษจำคุก 6 ปี

บุญ ยืนเล่าเรื่องราวทั้งน้ำตานองหน้า แต่ยังคงมั่นใจกับการตัดสินใจยอมรับสารภาพดังกล่าว และคิดว่าการยืนยันต่อสู้อย่างที่ดากำลังทำนั้น รังแต่จะทำให้โทษยิ่งรุนแรงขึ้น และเป็นที่น่าหมั่นไส้ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั้งหลาย

และ เนื่องจากเธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของบ้าน การอยู่ในเรือนจำนานหลายเดือน ทำให้บ้านและรถถูกยึดไปหมดแล้ว เพราะไม่ได้ส่งดอกเบี้ยที่ได้ทำธุรกรรมขายฝากไว้ จนไม่รู้ว่าลูกชายคนเล็กที่กำลังเรียนหนังสือจะไปอยู่ที่ไหนได้

อาจ จะด้วยความอัดอั้นตันใจ ความเกรงกลัว ต้องการคนช่วยเหลือ หรืออะไรก็ตาม เธอรีบชี้แจงผ่านกระจกห้องเยี่ยมทั้งที่ยังไม่ทันได้ไถ่ถามว่า เธอไม่ได้กล่าวคำอาฆาตมาดร้ายต่อรัชทายาทแต่อย่างใด หากแต่ปราศรัยตอนหนึ่งถึงความไม่ได้จงรักภักดีอย่างแท้จริงของ พล.อ. คนหนึ่งใน คมช. เท่านั้น

คดีนี้สิ้นสุดไปแล้วโดยที่แทบไม่มีใครล่วงรู้ และศาลไม่อนุญาตให้คัดสำเนาคำพิพากษาสำหรับผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดี

ขณะนี้เธออยู่ระหว่างทำเรื่องขอลดหย่อนโทษต่อศาลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ลดโทษเหลือ 3 ปี หรือรอลงอาญา ประกอบกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เธอคาดเดาเอาเองว่าจะทราบผลในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า



- - - - - - - - - - - - -

สองชีวิตกับข้อกล่าวหาที่หนักหน่วง ซ่อนตัวอย่างเงียบเชียบอยู่ในหลืบเร้นของสังคมนี้

ว่า กันถึงที่สุดแล้ว เราจะล่วงรู้ความจริงในใจผู้คนได้อย่างไรว่า ระหว่างนักการเมือง นักเคลื่อนไหว หรือกระทั่งฝ่ายซ้ายเก่าที่พร่ำพูดว่าตนจงรักภักดี กับประชาชนตัวเล็กๆ ที่พูดจาตรงไปตรงมา ... ใครจริงใจ ใครจงรักภักดี หรือใครเป็นภัยมากกว่ากัน

ท่าม กลางความเงียบงันของคดีที่ใครๆ ไม่อยากพูดถึง ข้องแวะ บางคนอาจกำลังพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองอยู่ว่า ควรจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในโลกใบเล็กอันลักลั่นนี้ โลกที่มักป่าวประกาศถึง “ประชาธิปไตย” “เสรีภาพ” “ความเท่าเทียม” “สิทธิมนุษยชน” ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติราวกับไม่รู้จักถ้อยคำเหล่านั้นเลย...โดยเฉพาะกับคนตัวเล็กๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น