หมายเหตุ: LM Article


LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง

LM watch



วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ? / เดวิด สเตร็คฟัส

ที่มา: ประชาไท (15/10/2550)

พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ?
เดวิด สเตร็คฟัส[1]

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ? คำถามนี้น่าถามโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเมืองมีความปั่นป่วน มีการกล่าวหากันไปมาเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างในขณะนี้ ประเด็นนี้ควรจะได้รับการครุ่นคิดกันอย่างจริงจัง

กฎหมายหมิ่นฯ ก็ไม่ต่างจากกฎหมายอื่นๆ อีกจำนวนมากตรงที่อาจกินความกว้างขวางกว่าที่ตั้งใจไว้แต่แรก และถูกนำไปใช้อย่างพร่ำเพรื่อเสียจนไร้ความเป็นเหตุเป็นผลไป แทนที่จะเป็นการปกป้องพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ กลับเป็นการอ้างสถาบันฯ เพื่อขจัดความเห็นของฝ่ายหนึ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ชอบ

กฎหมายหมิ่นฯ เท่าที่เป็นอยู่นั้นพ้นยุคพ้นสมัยไปแล้ว บทลงโทษทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา การเพิ่มโทษครั้งสุดท้ายทำโดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 เป็นจำคุก 3-15 ปี

คำสั่งคณะรัฐประหารถูกแก้ไขหรือยกเลิกไปเป็นจำนวนมาก เหลือแต่เรื่องนี้เท่านั้นที่ไม่มีการแตะต้อง ใครล่ะจะกล้าลุกขึ้นมาเสนอให้ทบทวนแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้โดยไม่กลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ? นักการเมืองหน้าไหนที่อยากจะหาเรื่องใส่ตัว?

ลำพังการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทก็มีเหลี่ยมมุมมากพออยู่แล้ว คดีหมิ่นประมาทไม่ต้องอาศัย “หลักฐาน” และ “ข้อเท็จจริง” ตามปกติ การพิจารณาเส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริงและอุปมาอุปไมย การประเมินเจตนาและผลจากคำพูด (และประเมินความผิดจากการกระทำดังกล่าว) ไม่ใช่สิ่งตำรวจ อัยการหรือศาลมีความเชี่ยวชาญ ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมาในประเทศไทย คดีหมิ่นประมาทมีจำนวนเพิ่มเป็นสามเท่า มันกลายเป็นมาตรฐานปฏิบัติสำหรับผู้มีอำนาจไปแล้วที่จะตอบโต้กับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการฟ้องหมิ่นประมาท

คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยิ่งแย่กว่านั้นอีกหลายเท่า การกล่าวหาว่าใครหมิ่นฯ ทำให้ตำรวจต้องตั้งข้อกล่าวหา อัยการต้องส่งฟ้อง และศาลต้องพิพากษาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง หากใครไม่ดำเนินตามกลไกนี้ก็อาจถูกเล่นงานในข้อหาหมิ่นฯ เสียเอง เนื่องจากว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทที่ซับซ้อนในสังคมไทย และเนื่องจากว่าคนไทยจำนวนมากกระเหี้ยนกระหือที่จะตั้งข้อกล่าวหาหมิ่นฯ การถกเถียงปกติธรรมดาในประเทศอื่นที่มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ทำได้ยากยิ่งขึ้นทุกทีในสังคมไทย

ถึงอย่างไรสังคมไทยก็พาตัวเองมาถึงทางตัน จะไปต่อก็ไม่ได้ จะถอยกลับก็ไม่ได้ ไม่สามารถแม้กระทั่งจะพูดถึงความเป็นปัญหาอย่างที่สุดของกฎหมายนี้ สังคมไทยบีบหนทางให้แคบลงเอง เหลือแต่หนทางเดียวในการจัดการความคิดเห็นที่แตกต่าง คือ กฎหมายปกป้องสถาบันกษัตริย์ ใครก็ตามที่ตั้งคำถามกับกฎหมายนี้จะต้องเป็นคนที่ไม่สนใจจะปกป้องสถาบันฯ จะต้องไม่จงรักภักดี และจะต้องถูกปราบปราม

แต่ว่ายังมีหนทางอื่นให้เลือกอยู่ และจะขอเปรียบเทียบให้เห็นสักเล็กน้อย

การยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองไม่ได้ก่อให้เกิดภยันตรายต่อสถาบันฯ แต่อย่างใด มีการถกเถียงกันในแง่มุมต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ แต่ก็เป็นไปอย่างสุภาพเสมอ

รัฐธรรมนูญของนอร์เวย์ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่สิบเก้า ระบุว่า “องค์กษัตริย์เป็นผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดจะกล่าวหาอันใดมิได้” รัฐธรรมนูญ 2540 ของไทยระบุว่า “กษัตริย์อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละเมิดมิได้ ผู้ใดจะจะกล่าวหาใดๆ มิได้”

การหมิ่นประมาทกษัตริย์นอร์เวย์เป็นความผิดทางอาญาเหมือนในประเทศไทย โดยมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี แต่มีคดีหมิ่นฯ ครั้งสุดท้ายในนอร์เวย์เมื่อไหร่? หรือในอังกฤษ? หมายความว่าคนนอร์เวย์ไม่ “รัก” กษัตริย์ของพวกเขาเท่าคนไทยหรือ? หมายความว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษไม่มีปฏิปักษ์อย่าง www.abolishthemonarchy.co.uk หรอกหรือ?

ไม่เลย แต่การใช้เหตุผลของคนอังกฤษที่นิยมสาธารณรัฐนั้นไม่ได้เป็นการหมิ่นตัวราชินีอังกฤษ ในขณะเดียวกัน เท่าที่มีการสำรวจคนอังกฤษส่วนใหญ่ต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ประชาธิปไตยเบ่งบาน

ด้วยกฎหมายคล้ายๆ กัน แล้วทำไมการตีความในเมืองไทยถึงกลายเป็นว่าไร้เหตุผลได้ถึงเพียงนี้ อย่างที่นักวิชาการด้านกฎหมาย จิตติ ติงศภัทย์กล่าวไว้ในทศวรรษที่ 2523? ทำไมเลขานุการส่วนพระองค์จึงทำนายไว้ในช่วงเวลาเดียวกันว่าการใช้กฎหมายหมิ่นฯ จะลดลงจนกระทั่งถูกยกเลิกไปในที่สุด?

หมายความว่า ในช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยรุดหน้าในประเทศไทยจากการเสียสละของคนจำนวนมาก ทำไมถึงจะยังมีการใช้กฎหมายนี้อยู่อีก?

ดูแค่บทสัมภาษณ์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่ทำให้บรรณาธิการธนาพล อิ๋วสกุลถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในมุมมอง “ปกติ” สุลักษณ์ให้สัมภาษณ์ว่าทุกสถาบันจะต้องถูกตรวจสอบได้ ซึ่งรวมถึงสถาบันกษัตริย์ อันเป็นปกติในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มันเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ตรงไหนกัน? อาการอ่อนไหวเกินเหตุต่อการพาดพิงถึงสถาบันฯ กลายมาเป็นบรรทัดฐานไปได้อย่างไร? แล้วทางออกคืออะไร? ใครต่อใครสามารถกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าหมิ่นฯ โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย บางคนถึงกับตีความว่าจะต้องไม่มีการเอ่ยถึงสถาบันฯ เอาเสียเลย บางคนก็ตีความว่าไม่ควรมีการถกเถียงกันว่าสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหมายความว่าอะไร

จะอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับให้ตำรวจ อัยการหรือศาลเดินตามในการดำเนินคดีหรือพิจารณาคดี ขณะเดียวกัน ทุกคนดูเหมือนจะเข้าใจว่ากฎหมายนี้มีแนวโน้มที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดปากผู้คนในสังคม

ยังดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรัสถึงเรื่องนี้ไว้บ้างแล้วในพระราชดำรัสเดือนธันวาคมปี 2548 หลายคนตีความพระราชดำรัสว่าการใช้กฎหมายหมิ่นฯ นั้นทำให้พระองค์เดือดร้อน พระองค์ทรงตรัสว่าการที่คนบอกว่า “กษัตริย์ทำอะไรไม่ผิดนั้นเป็นการดูถูกกษัตริย์ เพราะทำไมกษัตริย์จึงจะทำผิดไม่ได้ เพราะแสดงให้เห็นว่าพวกเขามองกษัตริย์ไม่ใช่มนุษย์”

พระองค์ทรงตรัสต่อไปว่า “สมมติว่าเราพูดอะไรผิด เพราะไม่ตระหนัก นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทำผิดโดยไม่ตระหนัก และมาตระหนักว่ามันผิด มันไม่ดีที่จะทำผิดโดยตระหนักว่าทำผิด แต่บางครั้งก็ไม่ได้ตระหนัก ก็ต้องขอโทษ ถ้าพูดโดยไม่ตระหนัก การไม่ตระหนักคือการไม่ระวัง ภายหลังก็จะเสียใจ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ว่าการกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันกษัตริย์ พระองค์ทรงตรัสแก่ประชาชนไทยว่า “ถ้าถือคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดว่าเป็นการหมิ่น พระเจ้าอยู่หัวก็จะเสียหาย”

พระองค์ยังทรงตรัสว่า เวลาคนติดคุกด้วยข้อหาหมิ่นฯ พระองค์ทรง “เดือดร้อน” และต้องพระราชทานอภัยโทษ

เป็นเรื่องยากที่จะคิดว่าใครจะกล้ากล่าวหาเรื่องหมิ่นฯ อยู่อีกหลังจากที่พระองค์ท่านทรงตรัสไว้ชัดเจนขนาดนี้ แต่กระนั้นก็ยังมีการกล่าวหากันอยู่เนืองๆ ในสภาพการเมืองปัจจุบัน ยังมีคนที่พยายามจะถกเถียงในเรื่องนี้ อย่างในบทความนี้ เมื่อไหร่ถึงจะจบ?

ข้อ กล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดังที่ปรากฏในสังคมการเมืองไทยนั้นเป็นการคุก คามที่ร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รับรองไว้ในมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ 2540 มันกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้ปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์

ดังที่พระองค์ท่านทรงตรัส การใช้ข้อกล่าวหานี้อย่างพร่ำเพรื่อสร้างความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันกษัตริย์ และกระทั่งการพูดถึงการหมิ่นฯ ก็ทำให้ผู้พูดสุ่มเสี่ยงต่อข้อหาไม่จงรักภักดี จะควบคุมอำนาจนี้ที่ได้รับการสร้างความเข้มแข็งในยุคเผด็จการอย่างไรดี?

คำตอบค่อนข้างสามัญ มาตรา 101 และ 102 ในกฎหมายนอร์เวย์เป็นสูตรมาตรฐาน “ผู้ใดก็ตามที่หมิ่นประมาทกษัตริย์หรือผู้สำเร็จราชการฯ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี” แต่มาตรา 103 เสริมมาว่า “การฟ้องร้องตามมาตรา 101 และ 102 นั้นจะต้องกระทำโดยพระราชประสงค์หรือความเห็นชอบขององค์กษัตริย์เอง

หากการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเมืองไทยนั้นยากเกินจินตนาการ หากตำรวจและอัยการจำต้องดำเนินคดี หากสังคมไทยไม่สามารถรำงับความอยากกล่าวหาทั้งที่ขัดต่อพระราชอัธยาศัยของพระองค์ท่าน การเติมประโยคนี้เข้าไปอาจจะแก้ปัญหาได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกระทำสิ่งที่โดดเด่นสามประการนับแต่เดือนธันวาคม 2548 พระองค์ทรงสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยการตรัสถึงความไม่เหมาะสมในการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พระองค์ทรงเชื้อเชิญการวิพากษ์วิจารณ์ และขณะที่ผู้คนเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงแทรกแซงและแก้ไขปัญหาการเมือง พระองค์กลับทรงชี้ว่ายังมีทางเลือกตามวิถีประชาธิปไตยอยู่ นั่นคือศาล นับเป็นพระปรีชาญาณโดยแท้

ด้วยการที่ทั้งโลกให้ความสนใจต่อการเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุด สังคมไทยน่าจะถวายของขวัญแก่พระองค์หรือมอบแก่คณะองคมนตรีด้วยการสุขุมรอบคอบในการจัดการปกป้องพระเกียรติของสถาบันกษัตริย์ แก้ไขมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาด้วยการเติมประโยคที่ว่า การฟ้องร้องในคดีหมิ่นฯ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับพระราชบัญชาหรือความเห็นชอบจากพระองค์ท่านเท่านั้น

มิฉะนั้น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในไทยก็จะยังคงเป็นอาวุธในการฟาดฟันศัตรูทางการเมือง รังแต่จะเป็นอันตรายต่อสถาบันที่กฎหมายนี้มีขึ้นมาเพื่อปกป้องเสียเอง

หมายเหตุ
[1] เดวิด สเตร็คฟัส จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ทำวิทยานิพนธ์เรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีหมิ่นประมาทในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น