หมายเหตุ: LM Article


LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง

LM watch



วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีปัญหามากอยู่แล้ว / ธงชัย วินิจจะกูล

ที่มา: ประชาไท (12/10/2550)

พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ แปลจาก Lese majeste law still problematic , The Nation วันที่ 11 ต.ค.2550


กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีปัญหามากอยู่แล้ว
โดย ธงชัย วินิจจะกูล

การเสนอแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯนี้เลอะเทอะและไม่ฉลาดเอาเสียเลย กฎหมายเท่าที่เป็นอยู่ก็มีปัญหาในหลายแง่มุมมากพออยู่แล้ว

โดยพื้นฐานแล้ว กฎหมายข้อนี้ขัดแย้งกับหลักการในรัฐธรรมนูญที่ว่า “ประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย” แต่ประเทศไทยยอมให้ความขัดแย้งนี้ดำรงอยู่ตลอดมาด้วยกลไกและบรรทัดฐานทางกฎหมายที่น่ากังขา

ยิ่งกว่านั้น ปัญหาที่น่าหนักใจก็คือ การฉ้อฉลใช้กฎหมายนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง เพราะกฎหมายอนุญาตให้ใครก็ได้กล่าวหาใครก็ได้ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาท ที่เฉพาะผู้เสียหายเท่านั้นที่จะดำเนินการฟ้องร้องได้ กฎหมายหมิ่นฯ จึงกลายเป็นอาวุธทางการเมืองที่ฉวยใช้ง่ายเหลือเกิน

ผู้ถูกกล่าวหาโดยคดีหมิ่นฯ ได้รับความเสียหายไปแล้ว ไม่ว่ากระบวนการหรือผลทางกฎหมายจะออกมาเป็นอย่างไร และทั้งๆ ที่กรณีส่วนใหญ่ถูกยกฟ้องหรือไปไม่ถึงศาล ข้อหาหมิ่นฯ จึงถูกใช้อย่างไม่ต้องคิดหรือเป็นการเมืองสามานย์ แทนที่จะได้รับการจัดการอย่างระมัดระวังรอบคอบมากที่สุด

การเสนอแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ละเมิดหลักการทางกฎหมายและขนบธรรมเนียมในหลายแง่ และอาจจะยิ่งทำให้มีการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนักข้อมากขึ้นไปอีก

ประการแรก การแก้ไขครั้งนี้จะเป็นการยกสถานะคนกลุ่มเล็กๆ (รวมถึงคนที่ไม่ใช่เจ้า) ขึ้นเหนือประชาชนทั่วไป ซึ่งจะสร้างแบบอย่างที่อันตราย เนื่องจากอาจจะมีการออกกฎหมายที่จะสร้างชนชั้นอภิสิทธิ์หรือพวก “firsts among the equals” เพิ่มขึ้นมาอีก

การแบ่งชนชั้นในสังคมอย่างเป็นทางการโดยมีกฎหมายรองรับกลับมากและหนักยิ่งขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่อีก แทนที่จะเป็นไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ประการที่สอง การแก้ไขครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้คนกลุ่มเล็กๆ มีสถานะสูงกว่าประชาชนทั่วไปอย่างถูกกฎหมาย แต่ยังเป็นการยกบุคคลบางคนให้มีอภิสิทธิ์และฐานะใกล้เคียงเจ้าอีกด้วย นี่เป็นการไม่สมควรทั้งต่อสถาบันกษัตริย์ ขนบประเพณี และเป็นการลบหลู่หยามหลักประชาธิปไตยของสังคมสมัยใหม่ทุกประการ

การเสนอแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้อาจจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียเองด้วยซ้ำ

ประการที่สาม ในโลกสมัยนี้ ที่ทุกคนบนโลกล้วนมีผลประโยชน์ทางวัตถุ ทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ความโปร่งใส (transparency) และการสามารถตรวจสอบได้ (accountability) เป็นสิ่งจำเป็นมากยิ่งกว่าเดิม การเสนอแก้ไขครั้งนี้กลับเดินไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม คือทำให้บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งและความรับผิดชอบสูงอยู่ในความเร้นลับและไม่สามารถตรวจสอบได้

ลองนึกดูว่าหากบุคคลดังว่านี้ทำอะไรที่สร้างความเสียหายแก่สถาบันกษัตริย์ เขาก็จะได้รับการปกป้องด้วยกฎหมายตามที่แก้ไขครั้งนี้ เพราะตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ หมายความว่า เขาจะไม่ถูกลงโทษจากการสร้างความระคายเคืองต่อสถาบันกษัตริย์

ประการที่สี่ การใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนและพวกพ้องก็จะได้รับการปกป้องโดยกฎหมายตามที่แก้ไขครั้งนี้ ผลกระทบที่จะเกิดแก่สถาบันกษัตริย์นั้นอาจใหญ่โตและอันตรายเกินกว่าจะคิดได้ในขณะนี้

ประการที่ห้า ทำไมถึงจะต้องห้ามสื่อมวลชนเสนอข่าวกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ? เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์หรือว่าเพื่อข่มขู่สื่อไม่ให้นำเสนอข่าวการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ในทางฉ้อฉลกันแน่? สมาชิก สนช.สายสื่อมวลชนที่สนับสนุนการเสนอแก้ไขนี้ควรจะมีความละอายที่ได้ทรยศเพื่อนร่วมวิชาชีพและประชาชน

สุดท้าย เจตนาในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ในครั้งนี้ โดยตัวของมันเองก็เป็นการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ในทางฉ้อฉล นั่นคือเป็นการให้การคุ้มครองคนบางคนที่อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน นี่เป็นการแก้ไขกฎหมายที่ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว

หาก มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ได้จริงๆ การกล่าวหาและคดีหมิ่นฯ ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างแน่นอน ยิ่งมีคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลมากขึ้นเท่าใด ความสนใจก็จะยิ่งพุ่งไปที่สถาบันกษัตริย์มากขึ้นเท่านั้น แต่จะสร้างอภิสิทธิ์ให้คนบางคน (รวมถึงคนที่ไม่ใช่เจ้า) ทั้งๆ ที่พวกเขากระทำการที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนและไม่สมควรจะได้รับ การคุ้มครองพิเศษเหนือกฎหมายแล้วก็ไม่สามารถลงโทษพวกเขาเหล่านั้นได้ แม้กระทั่งหากพวกเขาสร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์ก็ตาม

บทเรียนจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าการมีอภิสิทธิ์มากเกินไปอย่างนี้ ในที่สุดจะนำไปสู่ความไม่พอใจของสาธารณชนและความปั่นป่วนในสังคม

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เป็นอยู่ก่อผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์ มากกว่าที่จะเป็นผลดี การแก้ไขคราวนี้จะยิ่งก่อผลเสียมากขึ้นไปอีก

การเสนอแก้ไขครั้งนี้ทำกันอย่างไร้ความยั้งคิด ถึงจะยอมถอนร่างแก้ไขออกไป ความคิดและความพยายามผลักดันเรื่องนี้ก็ยังสมควรต้องถูกประณามอยู่ดี

เราจะต้องไม่ยอมให้มันหวนกลับมาอีก

ธงชัย วินิจจะกูล เป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน


อ่านฉบับภาษาอังกฤษคลิ้กที่นี่
English version, Click here

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น