หมายเหตุ: LM Article


LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง

LM watch



วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พันธมิตรฯ (และกัลยาณมิตรของเขา): ‘นวพล' ภาคประชาชน

ที่มา: ประชาไท (3 พฤษภาคม 2551)



พันธมิตรฯ (และกัลยาณมิตรของเขา): ‘นวพล' ภาคประชาชน


กานต์ ณ กานท์

อันที่จริง การนำประเด็น ‘หมิ่นพระบรมราชานุภาพ' มาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีศัตรูทางการเมืองของ ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' และ ‘สื่อ' ในเครือ ‘ผู้จัดการ' นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด นับตั้งแต่รายการ ‘เมืองไทยรายสัปดาห์' เริ่มรู้สึกว่า พฤติกรรมของ ‘ทักษิณ' นั้น ชวนให้ "ผิดใจ"

แต่ที่กำลังดำเนินต่อไปอย่างน่าวิตก คือการเพิ่มดีกรีความอำมหิต ด้วยการใช้ ‘สื่อ' ในเครือ ‘ผู้จัดการ' (ซึ่งกล่าวได้ว่ามีอยู่อย่างครบวงจร) ปลุกระดมสร้างความเกลียดชังระหว่างผู้คนในสังคม อย่างน่ารังเกียจ ยิ่งกว่าทุกครั้ง

‘สื่อ' เหล่านี้ ได้พยายามกรอกหูผู้ฟัง/ผู้อ่าน ทั้งด้วยข้อมูลเท็จ และความคิดเห็นอันไม่ต่างจากโฆษณาชวนเชื่อ จนผู้ฟัง/ผู้อ่านรู้สึกเกลียดชัง - ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ - รู้สึกว่าการใช้ความรุนแรง ต่อผู้ที่ (พันธมิตร/ผู้จัดการ บอกว่า) ต้องสงสัยว่า "ไม่จงรักภักดี" นั้น ไม่ผิด![1]

ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับการปลุกระดมมวลชนของกลุ่ม ‘นวพล' เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ว่า ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป' ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ซึ่งเลวร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การ เมืองไทย

เพียงแต่ ‘นวพล' ไม่ได้อ้างตัวว่าเป็น ‘สื่อ' และ ‘ภาคประชาชน' เท่านั้นเอง

ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ บรรดานักวิชาการและผู้ที่ได้ชื่อว่า "นักสิทธิมนุษยชน" จำนวนหนึ่ง กลับออกมา ‘รับลูก/ต่อยอด/สนับสนุน' การนำประเด็นอันอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อสังคมไทยนี้ มาใช้ในเกมการเมืองของพันธมิตรฯ แทนการเตือนสติสังคม

ทั้งหมดนี้ ได้ชวนให้ตระหนกและหวาดหวั่นอย่างยิ่งว่า หากพันธมิตรฯ (และกัลยาณมิตรของเขา) ยังไม่ละอายที่จะเดินเกมด้วยวิธีการอันอำมหิตและน่าขยะแขยงเช่นนี้ต่อไป โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ ‘6 ตุลาฯ' อีกครั้งหนึ่งนั้น อาจเป็นไปได้


‘6 ตุลาฯ' บทเรียนของใคร?:
ก่อน หน้านี้ หลายคนรวมทั้งตัวผมเอง เคยเชื่อว่าเหตุการณ์สังหารหมู่อันโหดเหี้ยมและน่าสลดที่สุดในประวัติศาสตร์ การเมืองไทย เมื่อ 30 กว่าปีก่อน น่าจะเป็นบาดแผลและบทเรียนของสังคมไทย จนทำให้ผู้คนรู้สึกขยะแขยงและผิดบาปต่อการปลุกระดมเพื่อ ‘เอาชนะทางการเมือง' โดยไม่สนใจวิธีการและผลของมัน

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดหลายวันที่ผ่านมานี้ จึงทำให้เกิดคำถามว่า

‘นวพลภาคประชาชน' เหล่านี้ จดจำเหตุการณ์ ‘6 ตุลาฯ' ไม่ได้หรือ?

ทว่าพิจารณาด้วยเหตุและผล รวมทั้งเกียรติประวัติในอดีตของคนกลุ่มนี้ สักกี่ครั้ง
คำตอบก็ยังคงชวนให้สลดหดหู่เช่นเดิม คือ

"เปล่าเลย"

เพราะจะเป็นไปได้อย่างไร ที่คนอย่างคำนูญ สิทธิสมาน, พิภพ ธงไชย, และสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จะลืม ‘6 ตุลาฯ'?

ไม่เว้นคนอย่างจำลอง ศรีเมือง ที่ ‘6 ตุลาฯ' ได้เคยทำให้การลงเลือกตั้งครั้งหนึ่งของเขา (เมื่อไม่กี่ปีก่อน) ต้องปั่นป่วนไม่น้อย จนต้องชี้แจงวุ่นวายว่า ‘อยู่ตรงไหน' และ ‘ทำอะไร' ใน ‘วันนั้น'

ไม่เว้นคนอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ที่นอกจากจะเป็นผู้ยิ่งยงในวงการสื่อมาช้านานแล้วยังมีดีกรี ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ จากต่างประเทศ

และไม่เว้นคนอย่างสุริยะใส กตศิลา ที่แม้จะ ‘โตไม่ทัน' และใช้ชีวิตทางการเมืองแบบใด ก็ยังชมชอบที่จะเอ่ยอ้างถึง ‘6 ตุลาฯ' อยู่บ่อยครั้ง

ยิ่งคนอย่างชัยอนันต์ สมุทวณิช
คนอย่างทองใบ ทองเปาว์
ฯลฯ

คนเหล่านี้ล้วนแต่มีด้านที่ทำให้ต้อง ‘จดจำ' ‘6 ตุลาฯ' อย่างไม่ต้องสงสัย
(แม้ว่าเมื่อ 30 กว่าปีก่อน บางรายชื่อที่กล่าวมา จะยืนอยู่ ‘คนละข้าง' กันในทางการเมืองก็ตาม)

ที่สำคัญ คนเหล่านี้ไม่เพียงแต่จดจำว่า ‘มีคนตาย' ในเหตุการณ์ ‘6 ตุลาฯ' เท่านั้น
แต่ยังจดจำได้ด้วยว่าคนเหล่านั้น ‘ตายอย่างไร'
และ ‘เพราะอะไร

'แต่ ‘นวพลภาคประชาชน' เหล่านี้ เลือกที่จะทำเช่นนี้เอง

อีกคำถามที่ผมหวาดหวั่นในคำตอบเหลือเกินคือ
ถ้าอย่างนั้น, ‘บทเรียน' ที่คนเหล่านี้ได้ ‘เรียนรู้' จาก ‘6 ตุลาฯ' คืออะไร ?



[1] โปรดดูตัวอย่างที่ชัดเจนและน่าสลดที่สุดอันหนึ่ง ได้จากข่าวนี้ คลื่นยามเฝ้าแผ่นดินยั่วยุให้ทำร้ายร่างกายโชติศักดิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น