Harry Nicolaides...บทที่ท้าทายของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทีมข่าวการเมือง
" สิ่งที่เขาเขียนนั้นเป็นเพียงการกล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ลับๆ ของพระราชวงศ์ในลำดับที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์โดยไม่แม้แต่จะเอ่ยนามว่า เป็นพระราชวงศ์พระองค์ใด ข้อความที่เขียนนั้นยาวเพียง 2 ประโยค จากหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่แค่ 50 เล่ม แต่เขาอยู่ในคุกไทยมาแล้ว 4 เดือนเต็มๆ โดยคำร้องขอประกันตัวถูกปฏิเสธไปแล้ว 4 ครั้ง"
ย่อหน้า ข้างบนเป็นการให้ข้อมูลจากองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ซึ่งแสดงความวิตกกังวลในระดับที่หนักขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิเสรีภาพใน ประเทศไทย โดยจดหมายอิเล็กโทรนิกส์ที่ส่งไปยังเครือข่ายนักกิจกรรมด้านเสรีภาพในการ แสดงความเห็นทั่วโลก ระบุว่าองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนขอย้ำคำเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาชาว ออสเตรเลียผู้นี้
แฮรี่ นิโคไลดส์ คือใคร
แฮรี่ นิโคไลดส์ วัย 41 ปีเป็นชาวเมลเบอร์น ออสเตรเลีย มีเชื้อสายกรีก จบการศึกษาจาก La Trobe University ในปี1988 ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2551 ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เขาเดินทางมายังประเทศไทยเมื่อปี 2003 นอกเหนือจากเขียนหนังสือแล้วเขาเป็นบล็อกเกอร์ด้วย เคยสอนภาษาอังกฤษระยะสั้นๆ ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
" ระหว่างนั้น ผมยังเคยช่วยแปลซับไตเติ้ลสารคดีเฉลิมพระเกียรติที่ทางมหาวิทยาลัยผลิตเป็น ภาษาอังกฤษ แต่วันนี้ผมถูกจับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" เขารำพึงผ่านกำแพงใสๆ ที่ทำหน้าที่กั้นผู้ต้องขังกับผู้เข้าเยี่ยม
คุกและการปรับตัว
สำนักข่าวกรีกออนไลน์รายงานว่า ในวันแรกที่โดนจับ แฮรี่ระบุว่าเขากลัวมาก เขาถูกขังรวมกับนักโทษคนอื่นๆ อีกเกือบ 80 คนในห้องขังเล็กๆ นอนกับพื้น มีคนที่มีรอยสัก จ้องมองเขาอย่างเย็นชา และเขาอยากฆ่าตัวตาย
ในตอนแรกเขามีเพียงผ้าห่มผืนเดียวสำหรับรองนอน แต่โดยการประสานงานของเจ้าหน้าที่สถานทูตออสเตรเลีย ขณะนี้เขามีเสื่อรองนอนแล้ว ได้ย้ายห้องขังไปอยู่อย่างแออัดน้อยลง มีเพื่อนร่วมห้องขังประมาณ 50 คน และเขาได้รู้ว่า แดนขังของเขาส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติด
เดือนพฤศจิกายน 2551 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่เรานั่งรออยู่ด้วยความระทึกว่า ‘เขา' จะออกมาพบเราหรือไม่ เพราะเราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน สิ้นเสียงประกาศให้เข้าพบผู้ต้องหารอบที่ 3 เราได้ยินชื่อแฮรี่ นิโคไลดส์ เราจึงเดินเข้าไปยังห้องเยี่ยมนักโทษห้องที่ 2 แนะนำตัวและเขาไม่คิดว่าเราเป็นผู้สื่อข่าว
"ผมเคยสอนหนังสือสองแห่ง ที่ราชภัฏภูเก็ตกับที่แม่ฟ้าหลวง แต่ผมไม่เคยเห็นเด็กที่สนใจการเมือง หรือกรณีของผมมาเยี่ยมผมมาก่อนเลย" เราแนะนำตัว และยืนยันว่าเรียนจบแล้ว เขาหัวเราะและกระเซ้าว่าไม่น่าเชื่อ "อย่างคุณนี่อายุไม่น่าจะเกิน 19 เลย" เขาหัวเราะพร้อมชี้ไปที่คนหนึ่งในพวกเรา
"คุณดูเหมือนจะปรับตัวได้แล้วนะ" เราถาม
" ใช่ ผมเริ่มปรับตัวได้แล้ว รีแลกซ์ขึ้น" เขาตอบพร้อมอธิบายว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อถูกจับใหม่ๆ เขาเครียดและเป็นห่วงครอบครัวมาก สิ่งที่ไม่เข้าใจเลยก็คือ หากมีการสอบสวนว่าเขากระทำผิดจริง เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่เข้าจับกุมในระหว่างที่เขายังอยู่ในเมืองไทย และเดินทางไป-มา ระหว่างไทยกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายครั้ง
"ผมทราบภายหลังว่ามีการออกหมายจับผมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 แต่ระหว่างนั้น จนถึงวันที่ผมถูกจับเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ระหว่างนั้น 5 เดือน ผมเดินทางเข้าออกประเทศไทยหลายครั้ง แต่ไม่มีปัญหาใดๆ ที่ตม.แต่กลับมาจับกุมผมขณะที่ผมกำลังจะเดินทางกลับบ้าน"
มากกว่า 2 บรรทัด ว่าด้วยข่าวลือ จำนวนพิมพ์ 50 เล่ม ขายไปแล้ว 10 เล่ม
รายงานข่าวอ้างจำนวนพิมพ์ที่ต่างกัน บางแห่งระบุว่า เขาพิมพ์หนังสือฉบับที่มีปัญหานี่ จำนวน 70 เล่ม บางแหล่งระบุว่า 50 เล่ม สถานีโทรทัศน์วิทยุออสเตรเลีย หรือ ABC รายงานเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2551 ว่า หนังสือของแฮรี่ เล่มดังกล่าวพิมพ์เมื่อปี 2005 เพียง 50 เล่ม และขายไปได้ 10 เล่ม
ด้วยจำนวนการเข้าถึงเพียงน้อยนิดนี้เอง เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเข้าถึงข้อมูลที่เขาเขียนได้เพราะแฮรี่เองเป็นคน ส่งให้ดู "ผมส่งหนังสือให้สำนักพระราชวังพิจารณา ว่าข้อความเช่นนี้หมิ่นเหม่หรือไม่ และไม่ได้รับการตอบกลับ" แฮรี่กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขาถูกออกหมายจับเมื่อเดือนมีนาคม 2551 แฮรี่ระบุว่า ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงเดือนสิงหาคม เขาเดินทางเข้าออกระหว่างไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 5 ครั้ง ระหว่างนั้นไม่มีการดำเนินการใดๆ และเขาไม่รู้ว่ามีการออกหมายจับดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อเขาจะเดินทางกลับไปยังออสเตรเลีย บ้านเกิด ในวันที่ 31 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปรอจับกุมเขาที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ในหนังสือ verisimilitude ที่ตีพิมพ์ไม่เกิน 50 เล่มนี้ กล่าวถึง ‘ข่าวลือ' เรื่อง ‘โรแมนติก' ของเชื้อพระวงศ์ โดยไม่ได้ระบุชื่อ มีเนื้อความประมาณ 1 ย่อหน้า
คดีนี้ไม่เป็นข่าว (ดัง)
คดี ของแฮรี่ ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากกรณีของ โจนาธัน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ซึ่งกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งในเว็บไซต์ข่าวของไทย เมื่อถูกฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการที่นายจักรภพ เพ็ญแข ไปเป็นผู้บรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อแฮรี่ถูกจับในวันที่ 31 สิงหาคม ไม่มีข่าวปรากฏ คดีนี้ไม่ถูกนำไปใช้ในทางการเมืองซึ่งสาดโคลนเข้าใส่ฝ่ายตรงข้ามกันอย่างไม่ บันยะบันยัง เขาถูกกักขังอย่างเงียบๆ โดยมีสถานทูตออสเตรเลียเป็นผู้ประสานงานและจัดหาทนายให้
และต่างกันกับกรณีของ Oliver Jufer, วัย 57 ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ผู้อาศัยอยู่ในเมืองไทยกว่า 10 ปี ถูกตัดสินและเนรเทศออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ภายหลังจากที่เขาพ่นสีสเปรย์ใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ขณะมึนเมา เหตุเกิดที่ จ.เชียงใหม่ ในคืนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 กรณีของแฮรี่เงียบ โดนเฉพาะในความรับรู้ของคนไทย
ขณะ เดียวกันสื่อในออสเตรเลียเองก็เริ่มระแคะระคายและติดตามเรื่องนี้ ทั้งตั้งคำถามต่อรัฐบาลของตนเองว่ามีส่วนทำให้เรื่องดังกล่าว เงียบด้วยเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศหรือไม่
รายงานชิ้นแรกของสื่อออสเตรเลีย นำเสนอโดยสำนักข่าว เอบีซีนิวส์ทางเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2551 หรือ3 วันหลังจากที่เขาถูกจับกุม เอบีซี ระบุว่าเขาถูกจับกุมในวันที่ 31 สิงหาคม ถูกปฏิเสธการประกันตัวและถูกส่งกลับไปยังเรือนจำกลางกรุงเทพฯ พร้อมให้ข้อมูลไว้ท้ายข่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพที่รุนแรงที่สุดในโลก
รายงานข่าวในสื่อของออสเตรเลียระบุว่า ทางครอบครัวของเขาได้ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษผ่านทางสถานทูตออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551 หลังจากที่คำร้องขอประกันตัวถูกปฏิเสธไปแล้ว 2 ครั้ง โดยทางการไทยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันการหลบหนี และก่อเหตุซ้ำอีก
ความเงียบ และแรงกระเพื่อมของข่าวสาร
หลังผ่านความเงียบของของข่าวสาร เอบีซี ได้นำเสนอคดีของแฮรี่ เป็นสารคดีทางโทรทัศน์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยสัมภาษณ์แหล่งข่าวหลายราย พี่ชายและทนายความของแฮรี่ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียขอให้พวกเขาอยู่เงียบๆ ไม่เปิดเผยข้อมูลของคดี ทว่ากระทรวงการต่างประเทศเองก็ล้มเหลวในการให้ข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวกับการปล่อยตัวแฮรี่ สิ่งที่ครอบครัวของแฮรี่เรียกร้องต่อรัฐบาลออสเตรเลียคือ การให้ข้อมูลว่ารัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตจะระบุว่าได้พบกับแฮรี่แล้วไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง และกระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นเรื่องต่อรัฐบาลไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง แต่คำถามก็คือ "ทางการออสเตรเลียได้ยื่นเรื่องอะไรต่อรัฐบาลไทย และเจราจาเรื่องนี้กับใครในรัฐบาลไทย" ฟอร์ด นิโคไลดส์ พี่ชายของเขาตั้งคำถาม
ที่ ทำให้ประเด็นก้าวไปไกลกว่านั้นก็คือมาร์ก ดีน ทนายความชาวออสเตรเลียกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออสเตรเลียซึ่งควรให้ความสำคัญกับแฮรี่ก่อนประเด็นเรื่องความละเอียดอ่อนใน ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและไทย ขณะที่ แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ นักมานุษยวิยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่า แฮรี่ เป็นพลเมืองออสเตรเลียซึ่งชาวออสเตรเลียจะต้องมีความกังวลต่อสิทธิมนุษยชน ของเพื่อนร่วมชาติขณะที่เขาอยู่ในต่างแดน
จาก 50 เล่ม สู่โลกออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์ในออสเตรเลีย
ประเด็น การกักขังแฮรี่ นิโคไลดส์ เริ่มขยายวงแห่งการรับรู้ไปยังมวลชนชาวออสเตรเลีย ผ่านสื่อกระแสหลักในประเทศอย่างเอบีซี ขณะที่ก่อนหน้านั้น ข่าวคราวของเขาเผยแพร่อยู่ในวงของบล็อกเกอร์ และสื่อทางเลือก และได้รับรายงานจากสื่อกระแสหลักของประเทศอื่น เช่นรอยเตอร์ และไทมส์
ขณะนี้ พ่อแม่ของแฮรี่ได้รวบรวมรายชื่อชาวออสเตรเลียเชื้อสายกรีกจากชุมชนกรีกในเม ลเบิร์น ได้จำนวนหลายพันรายชื่อเพื่อยืนต่อสถานทูตไทยและรัฐบาลออสเตรเลีย เรียกร้องให้ปล่อยตัวแฮรี นิโคไลดส์ นอกจากนี้ ยังปรากฏการรณรงค์ออนไลน์ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแฮรี่ และดำเนินการต่อคดีของเขาอย่างเป็นธรรม
เว็บไซต์ นวมณฑล หรือ New Mandala เขียนถึงกรณีนี้โดยอ้างอิงถึงกรณีอื่นๆ ที่มีการดำเนินการเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา ทั้งการแบนหนังสือ เว็บไซต์ การดำเนินคดีต่อคนต่างชาติรายอื่น คือ โจนาธัน เฮด และนายโอลีเวอร์ จูเฟอร์ การดำเนินคดีกับคนไทย คือนายจักรภพ เพ็ญแข และนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง
ในบทความ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและแฮรี่ นิโคไลดส์" (Lèse majesté and Harry Nicolaides) ระบุว่า ระบบกฎหมายไทย โทษของข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์และราชวงศ์มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี พร้อมทั้งระบุว่าในประเทศไทย แม้แต่การรายงานข่าวคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกแทรกแซง ก็เป็นเรื่องยาก การรายงานเนื้อหาอย่างละเอียดกลายเป็นความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเสียเอง และโดยการเซ็นเซอร์ตัวเอง จึงเป็นการยากที่จะได้เห็นข่าวของแฮรี่ นิโคไลดส์ในสื่อของไทย
หนังสือของแฮรี่ อาจจะตีพิมพ์เพียง 50 เล่ม แต่ขณะนี้ข้อความในหนังสือของเขาถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ และบล็อกของชาวออสเตรเลีย และชาวออสเตรเลียเชื้อสายกรีก และเริ่มขยายการวิพากษ์วิจารณ์ไปสู่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย
" ผมคิดว่าประเทศไทยพยายามส่งสัญญาณถึงสื่อ นักเขียน บล็อกเกอร์ และผู้คนในระดับนานาชาติที่นำเสนอเรื่องราวผ่านอินเตอร์เน็ตว่า ราชวงศ์ของไทยนั้น ห้ามแตะต้อง" แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ นักมานุษยวิยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวในสารคดีที่เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ และวิทยุออสเตรเลีย
อ้างอิง
ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจับตารัฐบาลไทยเข้มปิดเว็บ ร้องปล่อยตัวนักเขียนชาวออสเตรเลียที่ถูกจับคดีหมิ่นฯhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/15081
Aust man refused bail for insulting Thai King
http://www.abc.net.au/news/stories/2008/09/03/2354659.htm
Lèse majesté and Harry Nicolaides
http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2008/10/02/lese-majeste-and-harry-nicolaides/
Thai king insult could land Swiss in jail
http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article1502337.ece
Australian author jailed for offending Thai royals
www.abc.net.au/7.30/content/2008/s2417963.htm
หมายเหตุประชาไท: แก้ไขข้อมูลของแอนดรูว์ วอล์กเกอร์ เวลา 21.03 น. ตามคำท้วงติงของคุณ 'ผู้อ่าน' โดยอ้างอิงจาก www.prachatai.com/english/news.php%3Fid%3D746+Andrew+Walker&hl=th&ct=clnk&cd=3&gl=th
ขอขอบพระคุณที่ท้วงติงจากคุณ "คนอ่าน" และขออภัยอย่างสูงในความผิดพลาด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น