ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (23 มีนาคม 2552)
ถกกม.หมิ่นสถาบันฯสร้างภาวะกลัว-กลั่นแกล้ง
นักวิชาการ-ผู้ต้องหา-จำเลย ถก ม.112 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกใช้สร้างความกลัว กลั่นแกล้ง แนะทบทวนแก้ไขให้ยืดหยุ่น ไม่จำกัดความเห็นสุจริต
วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2552 ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงเช้า ในโครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดอภิปรายวิชาการเรื่อง “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หัวข้อ “ผลกระทบจากข้อกล่าวหากรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
ผู้ร่วมอภิปราย เช่น น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย) ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท และนายวสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และทนายความ
"จิตรา"เผยถูกให้ออกจากงาน เหตุถูกป้ายไม่จงรักภักดี
น.ส.จิตรา อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ได้เล่าย้อนเหตุการณ์ที่ถูกบริษัทเลิกจ้างว่า เหตุการณ์เริ่มจากที่เธอได้รับเชิญไปออกรายการกรองสถานการณ์ ช่อง 11 เพื่อแสดงความเห็นเรื่องการทำแท้ง ไม่ใช่เกี่ยวกับการหมิ่นใดๆ เพียงแต่ในวันนั้น เธอสวมเสื้อทีเชิ้ตเขียนข้อความว่า "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม"
ซึ่งปรากฏว่า นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ได้เขียนถึงในเว็บไซต์ผู้จัดการชักชวนไม่ให้ซื้อสินค้าบริษัทไทรอัมพ์ และกล่าวหาว่าเธอร่วมเป็นผู้เริ่มต่อต้านรัฐประหาร มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) ต่อมาได้มีการย้ำเรื่องนี้อีก โดยผู้ดำเนินรายการยามเฝ้าแผ่นดิน สถานีโทรทัศน์ ASTV
ต่อมา บริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อให้มีคำสั่งบอกเลิกจ้างเธอ ด้วยข้อหาว่า สร้างหรือเริ่มสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความแตกสามัคคี ที่กระทบต่อชื่อเสียงบริษัท ซึ่งครั้งแรกเธอยังไม่ได้รับหมายศาลเพื่อจะไต่สวนคดี ก็ปรากฏศาลมีคำสั่งให้เลิกจ้าง โดยภายหลังเธอได้รื้อคดี โดยยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางว่า บริษัทบอกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่เมื่อพิจารณาคดีไปแล้ว ศาลยังมีคงมีคำสั่งให้บริษัทเลิกจ้างได้
น.ส.จิตรา กล่าวว่า คดีขณะนี้ ได้ยื่นอุทธรณ์คดีไปแล้ว โดยขณะเกิดเหตุการณ์บริษัทบอกเลิกจ้างครั้งแรก พนักงานบริษัทไทรอัมพ์ ร่วม 3,000 คน ได้หยุดงานออกมาประท้วงบริษัท เพื่อปกป้องสหภาพฯ เพราะเห็นบริษัทเลิกจ้างประธานสหภาพ ถือเป็นทำลายสหภาพ แต่ปรากฏว่า ขณะที่พนักงานออกมาชุมนุม บริษัทกลับใช้วิธีเปิดเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงเทิดไท้องค์ราชันย์ รวมทั้งต้นไม้ของพ่อ เปิดตลอดทั้งวัน ซึ่งทำให้พนักงานเกรงว่า ถ้าได้ยินเพลงแล้วไม่ลุกก็จะถูกจับ เพราะจะถูกกล่าวหาว่าไม่มีวิญญาณประชาชาติไทย
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีบอกเลิกจ้างก็พบว่า บริษัทได้นำออกข้อมูล ที่มีการโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ กรณีที่มีคนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเธอ ไปแสดงต่อศาลเพื่อหลักฐานให้เห็นว่า สิ่งที่เธอทำนั้น สังคมไม่ยอมรับ ซึ่งปรากฏว่า ศาลก็รับฟัง จึงทำให้เห็นว่า เมื่อนายจ้างเห็นว่า กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเรื่องอ่อนไหว ก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมาทำลายการปกป้องสหภาพ ทั้งที่จริงแล้วการที่คนงานออกมาชุมนุม เพราะเขาเห็นว่า สหภาพมีผลต่อการคุณภาพชีวิตในการทำงานไม่ใช่เรื่องของการหมิ่น
อย่างไรก็ดี ขณะที่มีการบอกเลิกจ้าง เธอยังได้เคยทำหนังสือถึงนางอุไรวรรณ เทียนทอง ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.แรงงาน แต่ปรากฏว่า ทั้งนางอุไรวรรณ และรัฐบาลยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ปฏิเสธไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว โดยบอกว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
"สมบัติ" ระบุผู้ต้องขังบอกถูกกดดันสอบปากคำ 48ชม.
ด้าน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะที่เขาเข้าเรือนจำคดีหมิ่นประมาท พล.อ.สนธิ บุณยรัตนกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ขณะที่เข้าเรือนจำได้พบกับบุคคลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวบุคคลที่เชื่อ ว่าเป็น“พระยาพิชัย” ชื่อที่ใช้ในการแสดงความเห็นบนเว็บบอร์ดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งขณะอยู่เรือนจำ บุคคลนั้นมีอาการตัวสั่น มือสั่น ระหว่างพูดคุยกับ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เมื่อถามถึงสาเหตุที่ถูกจับกุม ซึ่งเขาไม่ทราบแน่ชัดว่า อาการนั้นเป็นการแสดงออกถึงความกลัวต่อการถูกดำเนินคดี หรือเป็นอาการทางจิตของบุคคลนั้น
ทั้งนี้ ก่อนจะถูกจับกุมทราบว่า บุคคลนั้นมีอาการทางจิตอยู่บ้าง ซึ่งกรณีของพระยาพิชัยที่ถูกจับก็ทราบว่า มีการจู่โจมเข้าจับกุมในห้องพัก ขณะเปิดใช้คอมพิวเตอร์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวสอบสวนเกินกว่า 48 ชั่วโมง และควบคุมตัวสอบปากคำนานเกือบสัปดาห์ เพื่อจะดูว่าการกระทำของพระยาพิชัยเกี่ยวข้องเป็นขบวนการ หรือเกี่ยวข้องกับกลุ่ม นปก.หรือไม่ ทั้งที่จริงแล้วบุคคลนั้นอาจจะไม่ได้ทำอะไรที่เป็นขบวนการเลย หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากสภาวะจิต
"ส่วนตัวเคยมีคนกล่าวหาว่า คิดล้มล้างสถาบัน ไม่จงรักภักดี ในกรณีที่ผมมีความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เห็นว่า ขณะนี้มีการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาใช้อย่างเลยเถิดเกินขอบเขตที่ต้องระวัง" นายสมบัติ กล่าว
"สุธาชัย"ชี้"ดาตอร์ปิโด"ไม่ได้สิทธิประกันตัวแบบ"สนธิลิ้มฯ"
ด้าน ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ส่วนตัวแม้จะไม่เคยตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่เขาเคยเป็นผู้ยื่นประกันให้นางดารณี หรือดา ตอร์ปิดโด จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเขารู้จักกับดา เมื่อมีการชุมนุม นปก. ที่สนามหลวง โดยเขาช่วยเหลือการยื่นประกัน เพราะเห็นว่า การดำเนินคดีมีการใช้กฎหมายคดีหมิ่นฯ มาเป็นเครื่องมือจัดการทางการเมือง
ทั้งนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) และผู้จัดการ กลับพูดถึงสิ่งที่เขาได้ทำในลักษณะว่า อยู่เบื้องหลังการหมิ่นตามเว็บไซต์ ทั้งที่เขาไม่มีความชำนาญ ในการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเพียงพอ ซึ่งสุดท้ายผลกระทบที่เขาได้รับไม่ใช่เพียงแค่ตัวเอง จากกรณีที่มีการส่งไปรษณียบัตรต่อว่าเขาไปยังคณะอักษรศาสตร์ แต่ยังส่งผลถึงครอบครัวด้วยที่ถูกถาม ถูกวิจารณ์ไม่นับถือสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่การเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเห็นว่า เหตุใดกรณีของดา ตอร์ปิดโด จึงไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่กรณีนายสนธิ ถูกกล่าวหาคดีหมิ่นฯ กลับได้รับประกันตัว
"ผมเห็นว่า เมื่อมีกฎหมายคดีหมิ่นฯ ก็ต้องไม่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำมาใช้ทำลายผู้บริสุทธิ์ เหมือนในอดีตที่มีการนำคดีหมิ่น ฯ กล่าวหานายปรีดี พนมยงค์ ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า การดำเนินคดีหมิ่นฯ ไม่เป็นประโยชน์ แต่จะให้เกิดสังคมในลักษณะหน้าไหว้หลังหลอก เพราะจะทำให้ผู้คน พูดแบบซุบซิบนินทา เพราะรู้ว่าพูดเปิดเผยไม่ได้ แล้วยังจะอ้างตัวเป็นผู้ภักดีคอยกล่าวหาบุคคลอื่น" นายสุธาชัย กล่าว
ผอ.เวบประชาไท ชี้อย่าซ้ำรอย 6 ตุลา 19
น.ส.จีรนุช ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กรณีเคยมีข้อความโพสในเว็บไซต์ที่จะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เธอเห็นว่าความพยายามนำกฎหมายคดีหมิ่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาดำเนินคดี สุดท้ายอาจจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีจับกุมกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาคดีหมิ่นฯ มักจะถูกพิพากษาไปตั้งแต่แรกแล้ว เมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหา ขณะที่การดำเนินคดี ก็จะต้องมีการพิสูจน์ถึงความจงรักภักดี
"ทำให้กฎหมายคดีหมิ่นฯ อยู่ในเส้นทางความสัมพันธ์อันคลุมเครือระหว่างบุคคลกับพื้นที่อัน ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีปัญหา ไม่รู้ว่าความจงรักภักดีที่หมายถึงนั้น มีภาพอย่างไร ซึ่งทำให้มีการตั้งคำถามกลับไปว่า ระดับความจงรักภักดีมีอยู่เท่าใด" ผอ.เว็บประชาไท ระบุ
ยก“ส.ศิวรักษ์”ถูกรสช.กลั่นแกล้งด้วยคดีหมิ่นฯ
นายวสันต์ กล่าวว่า เดิมกฎหมายหมิ่นกำหนดโทษไว้ให้จำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี แต่เมื่อช่วงหลัง 6 ต.ค.19 ได้มีการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษใหม่เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งมีแก้ไขบทลงโทษแล้ว ได้มีการจับกุมกลุ่มนักศึกษาถึง 19 คน ในคดีหมิ่นฯ โดยเมื่อมีการดำเนินกับนักศึกษาในการสืบพยาน ก็พบว่า มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทำลายขบวนการนักศึกษา แต่ยังไม่ทันที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่าผิดหรือไม่ ก็ปรากฏว่า มีการนิรโทษกรรมเสียก่อน
นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นทนายความคดีหมิ่นฯ ให้นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ จำเลยถูกการกล่าวหาใช้ถ้อยคำเข้าข่ายหมิ่นฯ ในวาระครบ 6 เดือนคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ความถดถอยของประชาธิปไตย แต่ภายหลังศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า เป็นกรณีที่ใช้คำพูดไม่ถูกต้องเท่านั้น ดังนั้น จึงเห็นว่า สิ่งที่ต้องระวังจากกฎหมายคดีหมิ่นฯ คือ การจะนำมากลั่นแกล้ง โดยผู้ที่อ้างความจงรักภักดี นำกฎหมายมาทำร้ายผู้อื่น
อย่างไรก็ดี เขาเห็นว่า หากจะแก้กฎหมาย ควรแก้บทลงโทษที่จะให้ลดลง ซึ่งจะสามารถกลับไปยังอัตราโทษเดิมได้หรือไม่ คือ จำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี
ความกลัว-เงียบ ทำให้คิดเหมือนกัน ไม่เป็นประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วย ต่อมา เวลา 13.30 น. มีการอภิปรายเรื่อง “สิทธิมนุษยชน กับความกลัวในสังคมไทย” ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี สำนักงานสิทธิมนุษยชนฯ ม.มหิดล กล่าวว่า การดำเนินคดีในกฎหมายหมิ่นฯ เป็นการสร้างบรรยากาศความกลัว และความเงียบให้เกิดในสังคมที่ไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ
ดังนั้น จึงเห็นว่า หากสังคมใดประกาศเป็นประชาธิปไตย แต่หากอยู่ภายใต้ความกลัว ก็ไม่อาจเป็นประชาธิปไตยได้ ดังนั้น การที่รัฐไม่อาจคุ้มครอง แต่กลับทำให้เกิดการจำกัดสิทธิเสียเอง ก็คงจะเรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้
"เมื่อเกิดกรณีมีความเห็นซึ่งแตกต่าง แล้วพยายามทำให้สังคมคิดเหมือนกัน สุดท้ายก็จะทำให้เป็นสังคมเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ โดยความจงรักภักดีที่มีความพยายามตรวจสอบกันขณะนี้ ถ้าเป็นจงรักเพราะถูกบังคับ ไม่ใช่เพราะเกิดความจงรักภักดี ขณะที่จะต้องมีการพิสูจน์ความภักดีกัน ก็สมควรที่จะต้องมีการทบทวน เพราะถ้าความกลัวทำให้สังคมมีแต่ความเงียบแล้ว สุดท้ายจะมีแต่ความอึดอัด" ตัวแทนจาก ม.มหิดล กล่าว
ม.112 ต้องยืดหยุ่น รับหลักการแสดงความเห็นโดยสุจริต
ด้าน รศ.จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การที่สถาบันดำรงอยู่ ก็น่าจะดำรงอยู่ร่วมกับสิทธิแสดงความคิดเห็นด้วย กฎหมายคดีหมิ่นฯ มาตรา112 ต้องมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ โดยยอมรับหลักแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ความเป็นจริง ความเป็นธรรม แต่ปรากฏว่า สังคมไทยยังไม่ยอมรับบทยกเว้นโทษ ยกเว้นความผิด
ขณะที่ในคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป มีบทยกเว้นโทษ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 และ 330 โดยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กลับมองว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ องค์พระมหากษัตริย์จะก้าวล่วงได้ จึงบอกว่า มาตรา 112 ต้องคู่ไปกับรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น หากมีการแก้ไขบทกฎหมายคดีหมิ่นฯ มาตรา 112 ควรต้องมีการพูดถึงบทยกเว้นโทษไว้ด้วย เพื่อไม่ให้กระทบการจำกัดสิทธิ รวมทั้งแก้ไขบทลงโทษ ที่กลับไปสู่อัตราโทษกฎหมายเดิม คือ ไม่เกิน 7 ปี เพื่อแสดงให้เห็นสถานะกษัตริย์ กับสถานะกฎหมายเดินไปด้วยกัน ขณะที่ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นด้วย เช่น การตัดสินคดี ควรจะกล้าตีความกฎหมายด้วย เพื่อขจัดให้สังคมไม่ตกอยู่ในความกลับ ความเงียบงัน
หมายเหตุ: LM Article
LM watch พยายามคงการเน้นคำในเนื้อหาให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคบางประการ ทำให้การแสดงผลบนเวบไซต์นี้ยังไม่สามารถใช้การเน้นแบบ "ขีดเส้นใต้" ได้ จึงจำเป็นต้องใช้การเน้นด้วย "ตัวหนา" แทนในบางกรณี ซึ่งต้องขออภัยต่อเจ้าของบทความ/รายงาน ตลอดจนผู้อ่านเป็นอย่างสูง
LM watch
วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น